xs
xsm
sm
md
lg

ยกเคสแชร์ภาพป่วย “ปอ ทฤษฎี” ทำไกด์ไลน์หมอใช้โซเชียล ชี้หารืออาการป่วยใน “กรุ๊ปไลน์” ได้ แต่ห้ามแคปส่งต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์
หมอยันแชร์ภาพ “ปอ ทฤษฎี” ป่วย ไม่ใช่ของ รพ.รามาฯ ยกเป็นเคสศึกษาจัดทำร่างไกด์ไลน์คุมการใช้โซเชียลของบุคลากรแพทย์ ชี้ หมอส่งข้อมูลผู้ป่วยเพื่อหารือรักษาในไลน์สามารถทำได้ แต่ต้องระวังความปลอดภัยระบบไอที คำนึงประโยชน์ผู้ป่วย คนในกรุ๊ปต้องมีวินัย ไม่แคปเจอร์ส่งต่อให้คนนอก

จากกรณีการเผยแพร่ภาพขณะป่วยของ ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ นักแสดงชื่อดังทางสังคมออนไลน์นั้น   นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ MGR ออนไลน์ ว่า ภาพที่ปรากฏออกมานั้นไม่ใช่ภาพของ รพ.รามาธิบดี เนื่องจากโรงพยาบาลมีกฎระเบียบเรื่องการห้ามบันทึกภาพส่งข้อมูลคนไข้ออกไปนอกห้องพยาบาล เนื่องจากมีระเบียบและวินัยไว้ลงโทษเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่สังคมและโรงพยาบาลรามาธิบดีต้องนำกลับไปทบทวน เพราะมีการแชร์ภาพและข่าวลืออยู่ตลอดเวลาแชร์ภาพ และข่าวลืออยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวตนจะนำมาเป็นกรณีศึกษาในการจัดทำร่างแนวทางปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) การใช้โซเชียลมีเดียของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย เช่นเดียวกับเคสของนักแสดงสาวแตงโม ภัธรธิดา พัชรวีระพงษ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งตัวไกด์ไลน์ก็จะครอบคลุมถึงเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวด้วย โดยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สัคมต้องเรียนรู้

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากการเผยแพร่ภาพ ปอ ทฤษฎี ขณะนอนป่วยแล้ว ยังปรากฏภาพการแคปเจอร์หน้าจอการพูดคุยกันของบุคลากรทางการแพทย์ ถึงอาการของผู้ป่วยด้วย นพ.นวนรรน กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบว่าว่าหลุดมาจากไหน และเป็นของจริงหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบ แต่การพูดคุยอาการของผู้ป่วยในโซเชียลเช่นนี้ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะการแคปเจอร์หน้าจอไปส่งต่อนั้นห้ามไม่ได้ ถ้าหลุดออกไปก็จะไปไกลมาก มองว่าควรจำกัดวงในการพูดคุยให้แคบลง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการรักษาผู้ป่วยทั่วไป ที่มีการส่งข้อมูลอาการป่วยของคนไข้ในไลน์เพื่อปรึกษาระหว่างทีมแพทย์ เช่น แพทย์จาก รพ.ชุมชน ปรึกษาแพทย์ รพ.ศูนย์ เพื่อความสะดวกในการรักษา เพราะระยะทางระหว่างโรงพยาบาลไกลมาก เป็นต้น สามารถทำได้หรือไม่  นพ.นวนรรน กล่าวว่า แม้จะเป็นการส่งต่อเพื่อประโยชน์ทางการรักษา แต่หากหลีกเลี่ยงได้ก็ถือว่าดี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องระมัดระวังอย่างสูง เพราะการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยต้องยอมรับว่าสามารถถูกแฮกได้ ทีมแพทย์ที่ทำการรักษาจึงต้องประเมินและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงความจำเป็น ประโยชน์ของผู้ป่วย และระบบการสื่อสารต้องมีความปลอดภัย แม้แต่ตัวผู้ใช้ หรือยูสเซอร์เองก็ต้องมีวินัยเช่นกัน ที่จะไม่นำข้อมูลเหล่านี้ไปส่งต่อให้บุคคลอื่น เพราะถือเป็นความลับของผู้ป่วย

หากมีข้อมูลหลุดออกมาก็ต้องมาพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่า เกิดขึ้นจากสาเหตุใด ต้องไปดูข้อเท็จจริง เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ หรือมีเจตนาที่จะเอาไปเผยแพร่ต่อหรือไม่ ซึ่งหากเจตนาเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อนั้นถือว่ามีความผิดตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ” นพ.นวนรรน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ถือเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในการน่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น