xs
xsm
sm
md
lg

คนแข็งแรงระวัง! กระตุ้นภูมิคุ้มกัน “ไข้เลือดออก” ดีเกิน ทำอาการทรุดเร็ว ชี้ฟื้นตัวหลังพ้นวิกฤต 48 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ชี้ ป่วย “ไข้เลือดออก” ซ้ำต่างสายพันธุ์ เสี่ยงอาการรุนแรง เผย ร่างกายบางคนกระตุ้นภูมิคุ้มกันรวดเร็วต่อเนื่อง เส้นเลือดรั่วสูญเสียสารน้ำ เกล็ดเลือด ร่างกายทรุดเร็วจนเกิดภาวะช็อก เช่น เคส “ปอ ทฤษฎี” มักพบในคนแข็งแรง ชี้ หากพ้นวิกฤตใน 48 ชั่วโมง อาการจะดีขึ้น

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การควบคุมโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนักเรียนที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต้องช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ก็จะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ลงได้ ทั้งนี้ สธ. จะทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้เอาชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ให้นักเรียนไปช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการสำรวจ พบว่า บ้านของคนไทยยังพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ 30% ในโรงเรียนพบมาก 40% ส่วนในวัดพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากถึง 60% การป้องกันและลดการเจ็บป่วยไข้เลือดออกทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันในการควบคุมโรค สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ในประเทศไทยมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยทั้ง 4 สายพันธุ์ความรุนแรงของโรคไม่ต่างกัน แต่พบว่าเมื่อป่วยไข้เลือดออกจากสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว เมื่อกลับมาป่วยโรคไข้เลือดออกอีกด้วยสายพันธุ์อื่นมักจะมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากร่างกายเรามีภูมิต้านทานที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น กรณีของนักแสดงหนุ่มปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ที่อาการรุนแรง เพราะภาวะภูมิต้านทานทำงานมากเกินไป ก็เพราะร่างกายตอบสนองต่อเชื้อไวรัสและกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตรงนี้เป็นกลไกของร่างกายที่เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ภูมิคุ้มกันในเลือดก็จะไปจับสารไวรัส และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายขึ้นมา ซึ่งบางคนกระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปฏิกิริยาของแต่ละบุคคลด้วย ทำให้เกิดการไปทำลายเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย หากเกิดที่หลอดเลือดก็จะทำให้สารน้ำรั่วออกจากเส้นเลือด ร่างกายจึงสูญเสียสารน้ำและเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อกขึ้นได้ นอกจากนี้ หากไปเกิดที่อวัยวะอื่นก็จะทำให้ระบบอวัยวะนั้นเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ ถือว่าเป็นช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น 48 ชั่วโมง หากผ่าน 48 ชั่วโมงนี้ไปได้ ร่างกายก็จะฟื้นตัว เหลือเพียงการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีของนักแสดงหนุ่มนั้นไม่ทราบว่าเริ่มเกิดภาวะดังกล่าวในช่วงเวลาใด ” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ภาวะเช่นนี้ถือว่าพบได้บ่อย อย่างอัตราการเสียชีวิตของไข้เลือดออกที่พบว่า ป่วย 1,000 ราย มักเสียชีวิต 1 รายนั้น ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะมีอาการรุนแรง และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนที่แข็งแรง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ข้อสังเกตของการเกิดโรคไข้เลือดออกในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า 1. กลุ่มอายุมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถเป็นไข้เลือดออกได้ทุกกลุ่มวัยไม่เฉพาะเด็ก ซึ่งเมื่อเป็นกลุ่มวัยอื่นทำให้แพทย์ไม่ค่อยนึกถึงไข้เลือดออก แต่มีการย้ำเตือนให้แพทย์ตระหนักถึงโรคไข้เลือดออกว่าเป็นโรคประจำถิ่น 2. น้ำหนักตัวที่ไม่สัมพันธ์กับอายุ ทำให้การวินิจฉัยไม่ชัดเจน รวมทั้งการรักษาที่ทำให้แพทย์ปรับขนาดยาได้ยากขึ้น 3. พื้นที่ในการระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้บางครั้งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ตระหนักมากพอ และ 4. พบว่าบางคนป่วยมากกว่า 1 โรค พร้อมกัน เช่น ป่วยเป็นไข้หวัด พร้อมไข้เลือดออก ก็จะทำให้อากาของโรคแย่ลง

“สิ่งที่ต้องระวังคือในช่วงไข้ลง หากไข้ลงจากการที่อาการดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึก หิวอยากทานอาหาร หรือสดใสขึ้น แต่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มักจะไข้ลง ตัวเย็น แต่ซึมลง ไม่อยากอาหาร ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจเข้าสู่ภาวะช็อก ทั้งนี้ หากเกิดโรคในเด็กส่วนใหญ่พ่อแม่จะสังเกตได้เร็วเพราะเด็กจะซึมอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะอดทนมากกว่าทำให้อาการของโรคดำเนินมาถึงจุดที่แย่ลง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น