xs
xsm
sm
md
lg

ปั้น อสม.รักษ์ไต ดูแล “อาหาร-ยา-ออกกำลังกาย” ชะลอไตวายระยะสุดท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สบส. ปั้น อสม.รักษ์ไต นำร่องพื้นที่ 5 จังหวัดเขตสุขภาพที่ 3 ทำงานร่วมทีมคลินิกโรคไต รพ.ชุมชน ประเมินการกินอาหารผู้ป่วย เลี่ยงรสเค็ม ตรวจสอบการใช้ยา คัดกรองกลุ่มวัยทำงาน ติดตามการออกกำลังกาย ชี้ช่วยชะลอไตวายระยะสุดท้าย

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย คาดว่า ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย 2 แสนคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน โดยผู้ป่วยไต 1 คน มีค่าใช้จ่ายในการล้างไตเฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท แต่ละปีใช้งบสูงถึง 3,000 ล้านบาท คาดว่า ปี 2560 อาจต้องใช้งบประมาณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีผลการศึกษาวิจัยของสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ร่วมกับรพ.คลองขลุง รพ.ทรายทองพัฒนา จ.กำแพงเพชร พบว่า หากผู้ป่วยโรคไตได้รับการดูแลตั้งแต่ระยะแรก ๆ ในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ จะชะลอการเกิดไตวายระยะสุดท้ายนานขึ้นจาก 7 ปี เป็น 14 ปี ซึ่งการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมาก ต้องอาศัยทำงานเป็นทีมเชื่อมโยงกันตั้งแต่ที่บ้านผู้ป่วยจนถึงโรงพยาบาลชุมชน จึงจะได้ผลดี ประสบผลสำเร็จ

“สบส. จึงร่วมมือกับเขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งมี 5 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท พิจิตร และนครสวรรค์ สร้างระบบดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นพื้นที่แรกของประเทศ ป้องกันการเกิดปัญหาไตเสื่อม ไตวาย โดยจัดอบรมให้ความรู้ อสม. ให้เป็น อสม.รักษ์ไต โดยคัดเลือกอสม.หมู่บ้านละ 1 คน รวม 1,190 คน เข้าอบรมและทำงานร่วมกับทีมคลินิกโรคไตเรื้อรัง ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการ ของโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัด และปฏิบัติงานร่วมกับทีมรักษ์ไตซึ่งเป็นทีมหมอครอบครัวซึ่งมีบุคลากรสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งผู้ป่วยโรคไตวายและญาติที่ให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและปฏิบัติตัวถูกต้อง” อธิบดี สบส. กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า อสม. ที่ผ่านการอบรมเป็น อสม.รักษ์ไต แล้ว จะดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1. ร่วมในทีมหมอครอบครัว ลงเยี่ยมผู้ป่วยและญาติที่ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่บ้าน ประเมินการรับประทานอาหารของผู้ป่วย เพื่อควบคุมอาหารรสเค็ม เช่น น้ำปลา ผงชูรส ปลาร้า เป็นต้น ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจสอบการกินยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง การใช้ยาที่มีผลให้ไตเสื่อม เช่น ยาแก้ปวดอย่างแรง ยาสมุนไพร ยาชุด ติดตามการออกกำลังกายของผู้ป่วยเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวต่อเนื่อง และ 2. ตรวจคัดกรองกลุ่มวัยทำงาน ค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันไม่ให้ป่วยและตรวจคัดกรองป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ในกลุ่มผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ ทั้งที่ ไต ตา และ เท้า หากได้ระบบที่เข็มแข็งจะขยายผลทั่วประเทศต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น