โรคหัวใจและหลอดเลือดคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 7 คน แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนะสำรวจค่าความดันโลหิต ไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด งดสูบบุหรี่ งดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยลดความเสี่ยงได้
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ได้กำหนดให้วันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์หัวใจโลก ปีนี้ใช้ประเด็นรณรงค์หัวใจโลก คือ “ดูแลสุขภาพหัวใจ ในทุกที่และทุกเวลา” เน้นในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงผิดปกติ และผู้ที่มีภาวะอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกและประเทศไทยในขณะนี้ จากสถิติของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2557 พบประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถป้องกันได้ โดยการหมั่นตรวจเช็คความดันโลหิต เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยแรกๆ ที่นำสู่โรคหัวใจและอัมพาตถือเป็นฆาตกรเงียบเพราะไม่มีอาการแสดงเตือนใด ๆ ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่ ตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดไม่ควรปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงโดยไม่รักษา ออกกำลังกายระดับปานกลาง ครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ งดอาหารประเภทไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และเกลือ หากร่างกายมีไขมันในปริมาณมากเกินไปจะทำให้หลอดเลือดแดงตีบ - ตัน ได้ ส่วนการบริโภคเกลือในปริมาณมากเกินไปจะทำให้ความดันโลหิตสูง โดยเฉลี่ยคนเราต้องการเกลือน้อยกว่า 5 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน นอกจากนี้ หากเคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจและอัมพาตควรดูแลรักษาสุขภาพและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง
“อาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ จุกแน่นหน้าอก จะมีอาการจุกบริเวณยอดอกตรงกลางมักเป็นในขณะออกกำลังกายหลังจากหยุดออกกำลังกายจะดีขึ้น การเจ็บหน้าอกจะมีลักษณะเหมือนมีอะไรมากดทับและอาการเจ็บนี้มีปวดร้าวไปที่หัวไหล่ซ้าย หรือไปที่กราม ถ้าอาการเจ็บนานเกินกว่า 5 นาที พักแล้วไม่ทุเลาหรืออาการเจ็บรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะเวลาทำงาน หัวใจเต้นผิดปกติ จังหวะการเต้นของชีพจรมีสะดุดหรือไม่สม่ำเสมอ” นพ.สุพรรณ กล่าว
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า สำหรับวิธีการรักษาสามารถรักษาด้วยยาในรายที่เป็นไม่มาก อาการไม่รุนแรงและผ่านการประเมินสมรรถนะร่างกายแล้ว และรักษาด้วยการเปิดรูหลอดเลือดหัวใจที่ตีบโดยการถ่างขยายด้วยลูกบอลลูนและใช้ขดลวดค้ำยันหรือใช้วิธีการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจบายพาส (By Pass) ในรายที่เป็นรุนแรง หรือร่วมกับกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ทั้งนี้ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นตรวจเช็กความดันโลหิต รักษาระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดให้ปกติ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว ลดพุง เปลี่ยนแปลงนิสัยการกิน งดอาหารเค็ม อาหารมัน เพิ่มพวกผัก ผลไม้ และพวกเส้นใยต่าง ๆ และตรวจสุขภาพประจำปี จะสามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่