สธ. ส่งหน่วยผ่าตัดตาต้อกระจกเคลื่อนที่ 1 คัน ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกที่ รพ.ชุมชน นำร่อง 5 จังหวัดอีสาน จำนวน 11,000 คน ไม่เสียค่าใช้จ่าย เผยใช้เครื่องมือไฮเทคเช่นเดียวกับโรงพยาบาล มั่นใจช่วยลดภาวะตาบอดลงได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 คน ลดรอคิวการผ่าตัด ตั้งเป้าปี 2560 ลดอัตราตาบอดไม่เกิน 0.5%
วันนี้ (21 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานปล่อยหน่วยสนับสนุนเครื่องมือผ่าตัดโรคตาต้อกระจกจากกรมการแพทย์สู่ภูมิภาค ในโครงการ “สาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อลดปัญหาการตาบอดจากต้อกระจก ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมการแพทย์ ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัญหาตาบอดจากโรคตาต้อกระจกเป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุจำนวนมาก มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นปีละ 60,000 คน แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งส่วนใหญ่ทำในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งมีจำนวนห้องผ่าตัดจำกัด ทำให้ผ่าตัดได้ปีละ 50,000 คนเท่านั้น จึงทำให้มีผู้ป่วยตกค้างรอผ่าตัดประมาณ 70,000 คน และยังมีผู้ที่สายตาเลือนลางจากต้อกระจกรอรักษาอีกประมาณ 120,000 คน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดถาวรได้ สธ. จึงจัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้ฟรี โดยให้กรมการแพทย์ประสานทุกภาคส่วนพร้อมเครื่องมือผ่าตัด ลงไปช่วยผ่าตัดในภูมิภาคที่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้าน ใช้เวลาผ่าตัดคนละ 30 นาที ได้รับการผ่าตัดเร็วขึ้น ตั้งเป้าจะผ่าตัดผู้ที่ตกค้างให้หมดไปภายในปี 2560 ลดอัตราตาบอดให้ได้ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือไม่เกินร้อยละ 0.5
ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หน่วยสนับสนุนเครื่องมือผ่าตัดโรคตาต้อกระจก เป็นหน่วยผ่าตัดตาต้อกระจกเคลื่อนที่ 1 คัน มูลค่า 10 ล้านบาท มีเครื่องมือทันสมัยชนิดเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาล ได้แก่ เครื่องผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง 2 เครื่อง กล้องจุลทรรศน์ผ่าตัดตา 3 ชุด เครื่องมือผ่าตัดต้อกระจก 10 ชุด และเครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยไอน้ำ 2 เครื่อง รถมีระบบกันสะเทือน ป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์การแพทย์ และมีลิฟต์ยกเครื่องมือขึ้นลงได้ หน่วยเคลื่อนที่นี้จะไปให้บริการที่โรงพยาบาลชุมชน มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายพื้นที่ไปร่วมทำการผ่าตัด จะเริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ มีผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกรอการผ่าตัดประมาณ 11,000 คน และหากการดำเนินการได้ผลดี จะมีการเพิ่มจำนวนหน่วยสนับสนุนไปทุกเขตสุขภาพ
“มั่นใจว่า การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้การผ่าตัดเร็วขึ้นกว่าเดิมกว่าเท่าตัว สามารถป้องกันคนไทยไม่ให้ตาบอดจากตาต้อกระจกได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 คน นอกจากนี้ ได้กระจายเครื่องมือตรวจสายตาชนิดง่าย เพื่อให้ อสม. ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้าน ผู้พิการ ตรวจคัดกรองและขึ้นทะเบียนรอผ่าตัด ซึ่งจะได้รับการผ่าตัดภายใน 30 วัน ส่วนผู้มีสายตาเลือนรางจะได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่