นักวิชาการฟันธง ศก.จีนได้เข้าสู่วัฏจักรขาลงอย่างชัดเจน สถาบันการเงิน และตลาดเงินหลักทั่วโลกทั้งญี่ปุ่น ยุโรป เอเชีย และสหรัฐฯ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ ชี้ปัญหาธุรกรรมธนาคารเงา หรือ Shadow Banking ในจีน โดยเฉพาะตราสาร CDOs จะนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์สินเชื่อคล้ายวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐฯ ปี 52 แต่อาจมีระดับความรุนแรงน้อยกว่า ขณะที่การฟื้นตัวตลาดหุ้น และราคาน้ำมันครั้งล่าสุดเป็นเรื่องชั่วคราว แนะไทยเร่งเบิกจ่ายงบฯ เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และลดอัตรา ดบ.นโยบายลงต่ำกว่า 1% จึงจะประคับคองไม่ให้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้น และการดีดขึ้นของราคาน้ำมันล่าสุดน่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว และแสดงถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก เนื่องจากผลกระทบของปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน วิกฤตฟองสบู่ตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ และการปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์ทางการเงิน ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ ยังคงดำเนินต่อไปอีกนานพอสมควร คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 5
สำหรับผลกระทบจากปัจจัยจีนบวกกับแรงกดดันทางการค้าจากชาติตะวันตกที่อ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน และประเด็นการใช้แรงงานทาส การทบทวนจีเอสพีของสหรัฐฯ อาจทำให้ภาคส่งออกของไทยมีอัตราการขยายตัวส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4
อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทจะช่วยกระตุ้นการส่งออกได้บ้าง คาดว่าผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจการค้าการผลิตของโลก และไทย หากฟองสบู่ในตลาดการเงินพัฒนาไปสู่วิกฤตการณ์ที่ลามสู่ภาคเศรษฐกิจแท้จริงผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนในตลาดการเงินและภาคสถาบันการเงิน
การลดค่าเงินหยวน และปัญหาเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อไทยมากผ่านหลายช่องทาง เศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ภาวะขาลงชัดเจน สถาบันการเงิน และตลาดเงินในญี่ปุ่น ยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกาไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ ปัญหาธุรกรรมธนาคารเงา Shadow Banking ในจีน โดยเฉพาะตราสาร CDOs จะนำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพรม์ของสหรัฐฯ ปี 2552 แต่จะมีระดับความรุนแรงน้อยกว่า
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจจีนในภาพรวมชะลอตัวลงต่ำกว่าร้อยละ 6 ปีนี้ รัฐบาลไทยต้องใช้มาตรการแก้ไข โดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเต็มที่ เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่ และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่าร้อยละ 1 จึงจะประคับคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ให้จับตาการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย และค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียรอบใหม่ หลังจากเคยเกิดขึ้นปลายไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ปีที่แล้ว