xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธงค่าเงินบาทปีนี้ผันผวนรุนแรง อาจอ่อนค่าแตะ 40 และแข็งค่าได้ถึง 30 บาท/ดอลล์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธ.ซีไอเอ็มบีฯ ฟันธงค่าบาทปี 59 ผันผวนหนัก โดยมีปัจจัยกระทบทั้งใน และนอกประเทศที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทสวิงตัวอย่างรุนแรง ซึ่งหากอยู่ในภาวะปกติ เงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่หากเกิดสงครามค่าเงินจะมีสิทธิอ่อนลงไปแตะ 40 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกัน ถ้า ศก.โลกย่ำแย่ ทุกประเทศอัดเม็ดเงินเข้าระบบจนทะลักเข้าไทย เงินบาทก็จะแข็งไปถึง 30 บาท/ดอลลาร์ฯ ภาคเอกชนจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ยากลำบาก เพราะค่าเงินผันผวนหนักกว่าปีก่อน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยทิศทางค่าเงินบาทในปี 2559 โดยระบุว่า เงินบาทจะผันผวนมากกว่าปีที่แล้ว เรียกว่าเป็นปีที่ยากก็ว่าได้ เพราะปีที่ผ่านมา หลายต่อหลายสำนักวิจัยต่างมองเงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าเช่นเดียวกันมาโดยตลอด จะต่างกันบ้างก็เพียงระดับของค่าเงินในช่วงปลายปี แต่สำหรับปีนี้แล้วขอย้ำว่า เงินบาทมีโอกาสทั้งอ่อนค่า และแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่ายากสำหรับผู้ส่งออก และผู้นำเข้าในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์ปกติค่าเงินบาทปลายปีนี้มีโอกาสจะอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยต่างประเทศ คือ ปีนี้จะมีเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ได้อีกหลังสหรัฐฯ ทยอยขึ้นดอกเบี้ย แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่นักลงทุนยังมีความกังวลต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของจีน ที่คาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

ส่วนปัจจัยในประเทศยังคงมีแรงกดดันให้บาทอ่อนค่า กล่าวคือ เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงเผชิญปัญหาการเติบโตที่ช้า และหากการส่งออกยังคงหดตัว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่า เพื่อช่วงชิงความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก หรือสงครามค่าเงินด้วยแล้ว มีโอกาสที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้ายต่อเนื่องจากที่ทำในปีก่อนมากกว่าการลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำลง (คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปีนี้ลดลงจากระดับราว 50 ในปีก่อน) มีผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศนำเข้าสุทธิน้ำมันยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้าที่ยังคงหดตัว ซึ่งสนับสนุนค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ส่งออกสุทธิน้ำมัน และพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อันจะได้รับผลกระทบจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงทำให้เงินอ่อนค่า

อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่คาดค่าเงินบาทจะเดินมาถึงทางแยก จะอ่อนค่าแรง หรือจะวกกลับมาแข็งค่าได้ คือ มีโอกาสได้ทั้งอ่อนค่าถึง 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นไปถึง 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ คือ ถ้าเงินบาทลงไปถึง 40 บาท ก็ต่อเมื่อสงครามค่าเงินปะทุขึ้น นำโดยจีนที่ลดค่าเงินหยวนแรง

ขณะที่การส่งออกไทยยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จะยิ่งมีแรงกดดันให้ผู้ดำเนินนโยบายออกมาตรการให้บาทต้องอ่อนค่าเพื่อประคองเศรษฐกิจ นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันกลับมาขึ้นแรงจากความไม่สงบในตะวันออกกลางด้วยแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดจะพลิกมาเป็นขาดดุล เงินสำรองระหว่างประเทศจะลดลง เกิดภาวะเงินไหลออกมากขึ้น

ทั้งนี้ โอกาสที่เงินบาทจะแข้งขึ้นไปถึง 30 บาทได้หากราคาน้ำมันลดลงแรง กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ และไม่ใช่แค่อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน แต่เป็นอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคตคาดว่าราคาสินค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงอีกนาน หรืออาจลดลงได้อีก จะส่งผลให้คนไม่อยากลงทุน เพราะผลิตสินค้ามาขายก็อาจขาดทุน ไม่คุ้มรายจ่ายดอกเบี้ยที่กู้จากธนาคาร

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเข้มแข็ง โตได้ราว 2.5% ในปีนี้ก็อาจพลาดเป้า และอาจส่งผลให้จำใจต้องลดดอกเบี้ยกลับมาจุดเดิม หรืออาจออกมาตรการ QE4 อีก ทั้งหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ไม่เคยมีธนาคารกลางของประเทศสำคัญใดที่ขึ้นดอกเบี้ยสำเร็จ สุดท้ายทุกประเทศที่เคยขึ้นดอกเบี้ยไปก็กลับมาลดดอกเบี้ยเพราะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งหากสหรัฐฯ เดินซ้ำรอยธนาคารกลางอื่นก็อาจเห็นเงินไหลเข้ามาตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง แล้วในภาวะราคาน้ำมันต่ำเช่นนั้นประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด เพราะไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก มีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งใครๆ ก็อยากมาพักเงินไว้ในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น