xs
xsm
sm
md
lg

FETCO ระบุความเชื่อมั่น นลท. 3 เดือนข้างหน้าลดลง 10.69%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอีก 10.69% เมื่อเปรียบเทียบดัชนีเดือนก่อนหน้า จากสถานการณ์ต่างประเทศ และเหตุการณ์ไม่แน่นอนที่เป็นปัจจัยฉุด ส่งผลให้ดัชนีอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) ระบุ นักลงทุนยังให้ความสนใจในหมวดอุตสาหกรรมบริการก่อสร้างมากสุด ส่วนหมวดเหล็กถือเป็นหมวดที่น่าสนใจน้อยที่สุด

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) เพื่อความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีต่อระดับดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) โดยเป็นผลอันเนื่องมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างประเทศ และเหตุการณ์ไม่แน่นอนยังคงเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลให้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

โดยผลสำรวจชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2559) อยู่ที่ 89.42 จากช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0-200 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลง 10.69% เมื่อเทียบจากดัชนีเมื่อเดือนก่อนซึ่งเคยอยู่ที่ 100.12 โดยดัชนีในแต่ละกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 16.66% อยู่ที่ 83.34 อยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) ในขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.09% อยู่ที่ 126.32 ซึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระดับที่ร้อนแรง (Bullish)

ผลสำรวจยังเผยถึงหมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุดว่ายังคงเป็นหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดเหล็ก ด้านปัจจัยเชิงบวกที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุดคือ เศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่เหตุการณ์ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ในต่างประเทศยังถือเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก การผ่อนคลายมาตรการเชิงนโยบาย (QE) การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินที่มีความผันผวน ปัญหาการเมือง และสงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศบางประการที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เช่น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายในภาคครัวเรือน การกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล การบริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การใช้จ่าย และการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ เป็นต้น

ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าในปี 2559 สภาวะความผันผวนของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่อาจมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของจีนที่อาจต้องใช้ทั้งมาตรการทางการคลังและการเงินมาช่วยหนุน เพื่อไม่ให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำกว่า 6.5% รวมถึงการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน อาทิ การลดดอกเบี้ย และการลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ หรือ RRR เพื่อควบคุมสภาวะเงินไหลออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง นโยบายต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้ค่าเงินหยวนของจีนน่าจะอ่อนตัวได้อีก 3-5% เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของค่าเงินบาทเองนั้น กรรมการผู้จัดการ บล. ซีแอลเอสเอ เห็นว่า จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ โดยจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามค่าเงินหยวนเช่นกัน ซึ่งจากเหตุการณ์จะส่งผลให้นักลงทุนสถาบันเองยังไม่รีบร้อนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น