สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จับมือนิด้าโพล เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีในเดือนที่ผ่านมา ชี้สถานการณ์ในต่างประเทศส่งผลกระทบความเชื่อมั่นการลงทุน แช่แข็งดัชนีการลงทุนนักลงทุนรายบุคคลลดฮวบ 6.48%
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่ม ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีต่อระดับดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral)” อันเนื่องมาจากความชัดเจนของนโยบายด้านเศรษฐกิจรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยฉุดจากสถานการณ์ต่างประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มกราคม 2559) คาดว่าจะอยู่ที่ 100.12 (ช่วงค่าดัชนี 0-200) ปรับตัวลดลง 1.34% จากดัชนีในเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 101.48 โดยดัชนีในแต่ละกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 75.01% อยู่ที่ 100.00 (ปรับเพิ่มสูงสุดในรอบ 4 เดือน) จนอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) ในขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 6.48% หรือ 100.92 (Neutral)
“หุ้นกลุ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์มากที่สุด คือ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ขณะที่อุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดได้แก่ เหล็ก (STEEL) เนื่องจากมีมาร์จิ้นน้อย และยังไม่มีความต้องการในตลาดโลกมากนักในขณะนี้ ส่วนปัจจัยเชิงบวกที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มเบิกจ่ายโครงการต่างๆ กระตุ้นเม็ดเงินในตลาดตั้งแต่ในระดับล่าง ขณะที่ปัจจัยเชิงลบที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ สถานการณ์ต่างประเทศทั้งในยุโรป และประเทศที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจเช่น จีน”
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) การผ่อนคลายมาตรการเชิงนโยบาย (QE) การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน ราคาน้ำมันตลาดโลก อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงิน และปัญหาการเมือง และสงครามระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศบางประการที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เช่น นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การบริโภคภาคครัวเรือน การส่งออก และแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศจากกองทุนรวม เป็นต้น
ด้าน นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีแรงผลักไปยังธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้ามานาน ด้านธุรกิจท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงยังอยู่ที่ความผันผวนในตลาดการเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่น สวนทางต่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ที่แผ่วลง นอกจากนั้น แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังสวนทางต่อธนาคารกลางส่วนใหญ่ที่ยังใช้นโยบายผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพภายนอกของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุล รวมถึงทุนสำรองในประเทศยังคงแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าเงินทุนจะยังคงไหลออกจากตลาดการเงินของไทยตั้งแต่กลางปี 2556 ก็ตาม
ทั้งนี้ ทิศทางตลาดหุ้นไทยถึงแม้ว่าจะถูกกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เนื่องจากระดับการถือครองหุ้นไทยของผู้ลงทุนต่างชาติลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังคงล้นอยู่ อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ รวมถึงจากกองทุน LTF และ RMF อีกด้วย