xs
xsm
sm
md
lg

SCBT มองบาทแข็งยันปีหน้า-จับตา ดบ.เฟด-หวังจีดีพีโต 4.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สแตนชาร์ดฯ มองบาทผันผวนหนักในช่วงนี้ หลังเฟดเริ่มเสียงแตกในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ประเมินบาทที่ 35.60 หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 1 รอบในปีนี้ แต่หากไม่ขึ้นอาจแข็งค่าแรงกว่าคาดได้มาก เตือนธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านเศรษฐกิจปีหน้าคาดจีดีพีโตได้ 4% หากเม็ดเงินลงทุนภาครัฐนำร่อง แนะให้ความสำคัญด้านลงทุน-เร่งแก้โครงสร้างส่งออก

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT)เปิดเผยว่า ธนาคารประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีความผันผวนค่อนข้างมากจากความไม่แน่นอนของทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ว่าจะปรับขึ้นหรือไม่ โดยธนาคารคาดการณ์ค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สมมติฐานที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ และมองว่า ค่าเงินบาทในปี 2559 จะแตะที่ 34.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนมากในช่วงนี้ไปจนถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า ตามความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีความระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงในด้านให้ดี

“เรามองว่า ค่าเงินดอลลาร์ หรือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของวัฏจักรในการฟื้นตัวแล้ว ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ดังจะเห็นว่าคณะกรรมการเองก็เริ่มมีเสียงแตกและมีการพูดถึงการชะลอขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งหากเฟดไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าด้วย ถึงตรงนั้นบาทจะตีกลับแรงกว่าที่คาดไว้ อาจจะแตะระดับ 34 ได้”

ส่วนการปรับนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของจีนนั้น ธนาคารมองว่าเป็นการปรับตัวเพื่อนำเงิน RMB เข้าสู่ระบบสากลมากกว่าจะเป็นลดค่าเงินเพื่อหวังผลทางด้านการส่งออก เนื่องจากภาคการส่งออกคิดเป็นเกือบ 20% จีดีพีของจีนเท่านั้น โดยหากทางการจีนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังมีเครื่องมือทั้งด้านการเงิน-การคลังที่สามารถใช้ได้อยู่ ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะเติบโตใกล้ๆ 7% ในปีนี้ และ 6.8% ในปีหน้า

ชี้เงินทุนรัฐตัวแปรจีดีพีปีหน้า

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้น คาดการณ์ที่ระดับ 4% สูงกว่าปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ 2.9% ภายใต้สมมติฐานที่มีเม็ดเงินจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐออกมาได้ ซึ่งขณะนี้ในบางโครงการก็เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ประกอบกับการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณประจำปีที่เพิ่มขึ้น 140,000 ล้านบาท รวมถึงจากมาตรการช่วยเหลือทั้งของกองทุนหมู่บ้าน และเอสเอ็มอี ที่ต่อเนื่องจากปีนี้ ขณะที่การส่งออกคงจะเติบโตได้เพียงเล็กน้อย 1-3% จากปีนี้คาดว่าจะติดลบ 5% จากปริมาณการค้าในตลาดโลกที่ลดลง และปัญหาด้านโครงสร้างการส่งออกไทย

นางสาวอุสรา กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ การลงทุนของภาครัฐ ที่จะทำให้การลงทุนเอกชน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการบริโภคตามมา ซึ่งหากปัจจัยต่างๆ เป็นไปตามที่คาดการณ์ในปีถัดๆ ไป ก็จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ย 6 ปีข้างหน้า (2016-2023) ฟื้นตัวของสู่ระดับ 4.5% จากเฉลี่ย 6 ปีที่เติบโต 2.9%

“เราต้องเปลี่ยนจุดโฟกัสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ยาก เพราะปริมาณการค้าโลกลดลง และปัญหาเชิงโครงสร้างของเราเอง ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข มาเป็นการลงทุนของรัฐที่จะดึงการลงทุน ใช้จ่ายของเอกชนตามมา แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพด้านสินค้าส่งออกไทยให้กลับเข้าสู่ซัปพลาย เชนของสินค้าในตลาดโลกด้วย ดังนั้น ในช่วงนี้จึงต้องเร่งเม็ดเงินลงทุนจากรัฐออกมาให้ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น