บาทอ่อนต่ำสุดรอบเกือบ 9 ปี นับตั้งแต่ ธ.ค.59 ที่ระดับ 36.67 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางกระแสกดดันค่าเงินเอเชีย และยังมีปัจจัยลบจากแนวโน้มการชะลอตัวของ ศก.ไทย รวมถึงสถานะขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดหุ้นยังกังวลตัวเลข ศก. ที่อ่อนแอ
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รานงานสรุปเงินบาทช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ก.ย. ถึง 2 ต.ค.) โดยระบุว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2549 ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางกระแสกดดันค่าเงินเอเชีย ก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในระยะที่เหลือของปีนี้
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงสถานะขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ และแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ จากกลุ่มผู้นำเข้า (โดยเฉพาะในช่วงต้น-กลางสัปดาห์) สำหรับในวันศุกร์ (2 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 36.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ก.ย.)
ส่วนสัปดาห์ถัดไป (5-9 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.40-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามประกอบด้วยมุมมองของตลาดต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดในระหว่างสัปดาห์ รวมถึงการเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจโลกที่ทบทวนใหม่ของ IMF และผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ
ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.ย. ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือน ส.ค. และบันทึกการประชุมเฟดรอบเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจของตลาดการเงินในภูมิภาคน่าจะอยู่ที่การเปิดเผยตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศของมาเลเซีย และจีน
ส่วนดัชนีตลาดหุ้นยังดิ่งลงนักลงทุนกังวลปัญหาการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,346.35 จุด ลดลงร้อยละ 2.21 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงร้อยละ 6.51 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 32,133.49 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 571.58 จุด ลดลงร้อยละ 2.98 จากสัปดาห์ก่อน
โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์จากแรงกดดันข้อมูลการส่งออกที่น่าผิดหวัง และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตอกย้ำความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ดัชนีปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อยในวันศุกร์ โดยมีแรงซื้อของนักลงทุนกลับมาบางส่วนจากคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวต้านที่ 1,358 และ 1,375 จุด ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 1,333 และ 1,315 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดต่อจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ส่วนเครื่องชี้ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิต ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ และบันทึกการประชุมเฟดรอบเดือน ก.ย. นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ