xs
xsm
sm
md
lg

ทองวูบ 5 วันติด ดาวโจนส์-น้ำมันปิดลบ วิตกศก.โลกชะลอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) ทำสถิติปิดลบติดต่อกัน 5 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนก.ย.ในวันนี้

สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ - COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 1.5 ดอลลาร์ หรือ 0.13% ปิดที่ระดับ 1,113.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ในวันนี้

ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ไร้ทิศทาง โดยในขณะที่ข้อมูลด้านแรงงานยังคงแข็งแกร่งนั้น ข้อมูลภาคการผลิตกลับอ่อนแรงลง นอกจากนี้ ตลาดยังปรับตัวลงหลังจากผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอลงในปีนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,272.01 จุด ลดลง 12.69 จุด หรือ -0.08% ดัชนี แนสแด็ก ปิดที่ 4,627.08 จุด เพิ่มขึ้น 6.92 จุด หรือ +0.15% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 1,923.82 จุด เพิ่มขึ้น 3.79 จุด หรือ +0.20%

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาไร้ทิศทาง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 10,000 ราย สู่ระดับ 277,000 ราย แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นเวลามากกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง

ขณะที่มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงินระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 53.1 ในเดือนก.ย. จากระดับ 53.0 ในเดือนส.ค.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดยภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์, อุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดโลก, ภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน รวมทั้งการลดการลงทุนในภาคธุรกิจ

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีในเดือนส.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน โดยพุ่งขึ้น 0.7% สู่ระดับ 1.09 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2008

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอลงในปีนี้ โดยระบุว่า ศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับปัญหามากมาย ซึ่งรวมถึงวิกฤตผู้อพยพในยุโรป, การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ

ทั้งนี้ นางลาการ์ดคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นจะมีการขยายตัวปานกลาง ขณะที่เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่จะมีการขยายตัวในระดับต่ำเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ตัวเลขการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 173,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 5.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) หลังจากมีรายงานว่า ภาคการผลิตของสหรัฐและจีนอ่อนแรงลง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอลงในปีนี้

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 35 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 44.74 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 68 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 47.69 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบอ่อนแรงลงหลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของภาคการผลิตของสหรัฐและจีน โดยมาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงินระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 53.1 ในเดือนก.ย. จากระดับ 53.0 ในเดือนส.ค.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน

ทั้งนี้ ภาคการผลิตของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์, อุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดโลก, ภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน รวมทั้งการลดการลงทุนในภาคธุรกิจ

ส่วนที่จีนนั้น ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน ลดลงแตะ 47.2 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง จากระดับ 47.3 ในเดือนส.ค.

ดร.เหอ ฟาน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไฉซิน อินไซต์ กรุ๊ป กล่าวว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือนก.ย.ลดลงแตะ 47.2 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนเผชิญกับภาวะอ่อนแอต่อเนื่อง ขณะที่เข้าสู่ช่วงสำคัญของกระบวนการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง

นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังปรับตัวลงหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 457.92 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล
กำลังโหลดความคิดเห็น