เอเอฟพี - น้ำมันโลกร่วงหนักเมื่อวันอังคาร (1 ก.ย.) โดยเฉพาะตลาดลอนดอนที่ปิดลบกว่า 4.50 ดอลลาร์ เช่นเดียวกับดาวโจนส์ที่ดิ่งเหว 469 จุด หลังข้อมูลการผลิตของจีนกระพือความกังวลต่อสถานะทางเศรษฐกิจแดนมังกร ปัจจัยนี้ดันทองคำขยับขึ้น ด้วยนักลงทุนผู้ตื่นตระหนกแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ
น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 3.79 ดอลลาร์ ปิดที่ 45.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเหลือเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 4.59 ดอลลาร์ ปิดที่ 49.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เป็นอีกครั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าวิตกของจีนส่งผลกระทบต่อตลาดทั่วโลก หลังข้อมูลอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่ในวันอังคาร (1 ก.ย.) บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอันสำคัญของแดนมังกรเข้าสู่ภาวะชะงักงันในเดือนสิงหาคม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ลดลงเหลือ 49.7 จุดในเดือนสิงหาคม ต่ำสุดในรอบ 3 ปี จาก 50.0 จุดของเดือนกรกฎาคม ขณะที่ตัวเลขต่ำกว่า 50 จุดนั้น บ่งชี้ถึงการหดตัว ถ้าสูงกว่า 50 คือแนวโน้มขยายตัว
นอกจากนี้แล้วการเติบโตในภาคการผลิตของสหรัฐฯ อีกหนึ่งเศรษฐกิจแถวหน้าของโลก ก็ดูเหมือนอยู่ในภาวะหยุดชะงักเช่นกัน หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสถาบันจัดการอุปทาน (ISM) ในเดือนสิงหาคม ทรุดลงจ่อระดับหดตัว โดยลงมาอยู่ที่ 51.1 จุด ต่ำที่สุดในรอบปี จาก 52.7 จุดในเดือนกรกฎาคม โดยได้รับผลกระทบจากดอลลาร์ที่แข็งค่า และเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
หลักฐานที่บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนและสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะหยุดนิ่ง ฉุดให้ตลาดหุ้นอเมริกาเมื่อวันอังคาร (1 ก.ย.) ร่วงลงตามตลาดทุนอื่นๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยเฉพาะดาวโจนส์ที่ปิดลบกว่า 469 จุด
ดาวโจนส์ ลดลง 469.68 จุด (2.84 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16.058.35 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 58.33 จุด (2.96 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,913.85 จุด แนสแดค ลดลง 140.40 จุด (2.94 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,636.10 จุด
หุ้นภาคธนาคารและเหล่าบริษัทน้ำมันคือกลุ่มที่ร่วงลงหนักที่สุด ทว่าแรงเทขายยังแผ่ลามครอบคลุมไปถึงพวกบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างอะเมซอนและแอปเปิลด้วย
วอลล์สตรีทเคลื่อนไหวตามตลาดทุนเอเชียและยุโรปที่มีแรงเทขายอย่างหนัก หลังจากพบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออย่างเป็นทางการของจีนในเดือนสิงหาคม ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี บ่งชี้ว่าภาคการผลิตกำลังหดตัว
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนคำกล่าวในอินโดนีเซียของนางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ไอเอ็มเอฟจะปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงอีก หลังจากเมื่อ 2 เดือนก่อนเคยปรับลงมาเหลือขยายตัวร้อยละ 3.3
แรงเทขายในตลาดหุ้นทั่วโลกและข้อมูลทางเศรษฐกิจด้านลบ กระตุ้นให้นักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และดันทองคำแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ในวันอังคาร (1 ก.ย.) โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 7.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,139.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์