xs
xsm
sm
md
lg

ดาวโจนส์ดิ่งเหว 500 จุดตระหนก ศก.จีน ทองคำขึ้น-น้ำมันหลุด $40 ช่วงสั้นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วอลล์สตรีทร่วงหนักตามทิศทางของตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะจีน(ในภาพ) หลังข้อมูลใหม่กระพือความกังวลต่อสถานะทางเศรษฐกิจของแดนมังกร
เอเอฟพี/มาร์เกตวอตช์ - ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงมากกว่าร้อยละ 3 ในวันศุกร์ (21 ส.ค.) โดยดาวโจนส์ปิดลบกว่า 500 จุด นับเป็นวันเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี หลังเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณมีปัญหา ปัจจัยนี้ฉุดให้น้ำมันขยับลง ขณะที่ทองคำเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์

ดาวโจนส์ซึ่งทุบสถิติสูงสุดตลอดกาลหลายรอบในปีนี้ ลดลง 530.94 จุด (3.12 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16,459.75 จุด ขยับลงแค่ 2 วันหลังสุดพอๆ กับที่ขยับขึ้นมาตลอดทั้งปี 2015 ส่งผลให้ดัชนีตัวนี้แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน

ส่วน เอสแอนด์พี ลดลง 64.84 จุด (3.19 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,970.89 จุด กลับไปแตะระดับเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อนเช่นกัน ด้านแนสแดคลดลง 171.45 จุด (3.52 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,706.04 จุด ต่ำกว่าตอนปิดตลาดสิ้นปี 2014 อยู่ราว 30 จุด

ความเคลื่อนไหวของวอลล์สตรีทเป็นไปตามทิศทางของตลาดอื่นๆ ในเอเชียและยุโรปที่พากันเทกระจาดท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีนจะกระทบต่อการเติบโตของทั่วโลก หรือแม้แต่ส่งผลกระทบของเศรษฐกิจอเมริกาที่ค่อนข้างจะแข็งแกร่ง

รายงานที่ระบุว่าภาคการผลิตของจีนหดตัวในอัตราหนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 ได้ซ้ำเติมความกังวลต่อสถานะทางเศรษฐกิจของแดนมังกร และกระพือคำถามว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการเพิ่มเติมในการยับยั้งภาวะชะลอตัวหรือไม่

ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนสิงหาคม ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกันไคซิน อยู่ที่ระดับ 47.1 ลดลงเมื่อเทียบกับระดับ 47.8 ของเดือนกรกฎาคม โดยตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะหดตัวของกิจกรรมในภาคการผลิตของจีน

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตดังกล่าวร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว และทางการจีนอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองของกรีซ ก็เป็นปัจจัยกระทบการซื้อขายในตลาดเช่นกัน

ข้อมูลภาคการผลิตที่อ่อนแอของจีนซึ่งกระพือความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจแดนมังกร ยังกดให้ราคาน้ำมันเมื่อวันศุกร์ (21 ส.ค.) ช่วงหนึ่งของการซื้อขายทรุดลงต่ำกว่า 40 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เนื่องจากปักกิ่งคือผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่

น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 69 เซ็นต์ ปิดที่ 40.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดง 1.16 ดอลลาร์ ปิดที่ 45.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ช่วงหนึ่งของการซื้อขายราคาน้ำมันเวสต์เทกซัส แกว่งตัวลงไปต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2009 อยู่ที่ 39.86 ดอลลาร์ ส่วนเบรนต์ ขยับลงไปต่ำสุด 45.07 ดอลลาร์ ระดับที่พบเห็นครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม 2009

สัญญาณใหม่แห่งปัญหาของเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของโลกและผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ มีขึ้นตามหลังปักกิ่งลดค่าเงินหยวนอย่างไม่คาดหมายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซ้ำเติมความกังวลแก่ตลาดที่เผชิญกับภาวะกำลังผลิตระดับสูงและอุปสงค์อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งความตื่นตระหนกในตลาดทุนและดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ช่วยดันให้ราคาทองคำเมื่อวันศุกร์ (14 ส.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ และเป็นสัปดาห์ที่ปิดบวกมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 6.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,159.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์


กำลังโหลดความคิดเห็น