ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM (นิด้า) มองเหตุการณ์ก่อการร้ายในฝรั่งเศส กระทบเศรษฐกิจในยุโรป และอเมริกาจากปัจจัยการชะลอตัวด้านการท่องเที่ยว ส่งผลนักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้ามาท่องเที่ยวในเอเชียมากขึ้น ระบุไทยน่าจะได้รับผลเชิงบวกในภาคการท่องเที่ยว และจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 เติบโตร้อยละ 3.5 หนุน GDP ทั้งปีโตได้ร้อยละ 3
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน (MPPM) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า การก่อการร้ายที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจต่อขนาดเศรษฐกิจยุโรปร้อยละ 14.7 หรือขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบต่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลง และมีผลต่อทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปทั่วยุโรปในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบดังกล่าว คาดว่าธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ต้องดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินที่มากขึ้น จากเดิมที่ดำเนินมาตรการ QE ด้วยจำนวนเงิน 65,000 ล้านยูโร ซึ่งมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยในระยะสั้นอาจส่งผลให้ค่าเงินยูโรผันผวนได้ รวมทั้งจะส่งผลให้เกิดการโยกย้ายเงินทุนไปถือสินทรัพย์อื่นที่มีเสถียรภาพมากกว่า เช่น ทองคำ ทำให้อุปสงค์ทองคำขยายตัว ซึ่งจะส่งผลให้ระดับราคาทองคำในระยะสั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 1,081.3 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนในระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
“ขณะเดียวกัน การโยกย้ายเงินทุนดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของเอเชีย และตลาดหุ้นไทย โดยทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนจะเข้าสู่ตลาดทุนเอเชียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตลาดหุ้นของไทย และจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทเกิดความผันผวนได้ในระยะสั้นๆ ได้”
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวในภาคพื้นยุโรปคาดว่าจะชะลอตัวลง และภาคการท่องเที่ยวไทยน่าจะได้รับโอกาสนี้ ทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยยกเลิกการไปเที่ยวฝรั่งเศสในช่วงนี้ และหันมาท่องเที่ยวในประเทศแทน ขณะเดียวกัน กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และชาวจีนที่มักจะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในช่วงเวลานี้ อาจปรับเปลี่ยนเส้นทางเข้ามาท่องเที่ยวมาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ที่อยู่ที่ร้อยละ 24.3 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM NIDA ยังคาดการณ์ว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นประเมินว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ อาจมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิมภายใต้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5 ในเดือนตุลาคม และอัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ยังต่ำกว่าระดับที่จะดำเนินการปรับอัตราดอกเบี้ย
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายจึงได้รับปัจจัยเชิงบวกจากอุปสงค์ภายนอก และหากประเทศไทยสามารถเสริมแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปัจจัยภายในเข้ามาช่วยเสริม โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนของงบประมาณปี 59 ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีการเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 4 ซึ่งจะยิ่งผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 เติบโตได้ถึงร้อยละ 3.5 และจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.0 ได้