"วรากรณ์” โพสต์เฟซบุ๊กโต้ "อานนท์" ชี้ไม่เหมาะสม กรรมการประเมิน สสส. แจงกรรมการบางคนเคยรับทุน สสส. แต่ปัจจุบันไม่ได้รับ ช่วยรู้กลไกการทำงาน ประเมินรอบด้านมากขึ้น ถามกลับไม่เหมาะสมอย่างไร ยกตัวอย่างเคยเป็น อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ และมาเป็น ปธ.ประเมินคุณภาพการศึกษา ทับซ้อนหรือไม่ เอ็นจีโอจี้นิด้า ตรวจสอบจริยธรรม
จากกรณี ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกมาทักท้วงการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยระบุว่ากรรมการ 4 ใน 7 คนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ สสส. จึงไม่เหมาะสม
วันนี้ (29 ต.ค.) รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงาน สสส. ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าวมีใจความว่า การวิเคราะห์ถึงความไม่เหมาะสมของ ดร.อานนท์ นั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเองและกรรมการ จึงขอแสดงความคิดเห็นในฐานะประธานกรรมการประเมิน สสส. โดยเห็นว่ามีข้อบกพร่องในการวิเคราะห์ “ความไม่เหมาะสม” อยู่หลายประการโดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ดังนี้ 1.เรื่องข้อมูล ที่ ดร.อานนท์เขียนว่า “คณะกรรมการฯ ที่ขาดความเป็นกลางและมี conflict of interest ควรลาออกไปเพื่อความสง่างาม ให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างสะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรม” จึงเข้าใจว่าอาจสับสนกับงานตรวจสอบของรัฐบาลในตอนนี้ เพราะคณะกรรมการชุดนี้มิได้ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบว่า สสส. ควรอยู่ต่อไปหรือไม่ และไม่ได้ตรวจสอบเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สตง. แต่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สสส. มาตรา 37 มีหน้าที่ ประเมินผลด้านนโยบายและการกำหนดกิจการของกองทุนฯ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนฯ และรายงานผลการปฏิบัติงานพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกรายปี คณะกรรมการฯ จึงไม่ได้มาดู “ความสะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรม” แต่เน้นประเด็นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การคุ้มค่าและธรรมาภิบาล
2.เรื่องการวิเคราะห์ แบ่งเป็น ประเด็นแรก ความไม่เหมาะสมของตน เพราะเคยเขียนบทความสนับสนุนการมีองค์กรที่มาจาก Earmarked Tax จึงอยากเรียนว่า ตนสอนพิเศษให้นิด้าที่อาจารย์ทำงานอยู่ในหลักสูตรปริญญาโท MPPM (Master of Public-Private Management) กว่า 10 ปี ตามทฤษฎีการจัดการสมัยใหม่นั้น การสนับสนุน public sector ด้วยเงินทุนจากรัฐเพื่อให้องค์กรมีระบบการทำงานคล่องตัวแบบ private เป็นเรื่องที่ทำกันทั่วโลก ถ้าคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้แล้วเป็นคนที่ไม่เหมาะสม ก็คงจะหาคนไปทำงานระดับนี้ได้ยาก ประเด็นที่สอง กรรมการบางท่านเคยรับทุนในอดีต ตนไม่เห็นว่าจะทำให้เขาไม่เหมาะสม เพราะการรู้กลไกการทำงานของ สสส. จากแง่มุมต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์น่าจะทำให้การประเมินผลมีความรอบด้านมากขึ้น
"ประเด็นสำคัญอยู่ตรงว่า การประเมินผลไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมเนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวเนื่องกับปัจจุบันหรือไม่ ถ้าตรรกะอาจารย์ว่าคนเคยรับเงินทุนอุดหนุนในอดีตไม่เหมาะสมแล้ว ตนที่เคยเป็นประธานกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของธรรมศาสตร์ ก็ต้องไม่ถูกต้องเหมือนกัน เพราะเคยเป็นอาจารย์ที่นี่มาก่อน เคยรับเงินเดือนและรับผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยมาในอดีตอย่างนั้นหรือ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าอาจารย์อานนท์กำลังทำหน้าที่รับใช้สังคม แต่เห็นว่าต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังในเรื่องข้อมูล และกรอบการวิเคราะห์ การแสดงความเห็นติเตียนกรรมการบางท่านที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นคนที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคมมายาวนานด้วยความจริงใจทำให้เขาเสียหายและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง"
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการหารือกับเครือข่ายสุขภาพอื่นๆ เห็นว่า นิด้าควรดำเนินการตรวจสอบจริยธรรมของ ดร.อานนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการตามที่ปรากฎในสื่อ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่