ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองสัญญาณเศรษฐกิจยังดิ่งหัว หลังเจอปัจจัยลบทั้งเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน ผลการจัดภาษีต่ำกว่าเป้า และอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดต่ำลง เชื่อลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงนี้ไม่หนุนให้เกิดกระตุ้นการลงทุน ขณะที่การส่งออกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ชี้ภาครัฐจึงควรเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ MPA NIDA เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยไม่มีผลต่อการกระตุ้นการลงทุน เนื่องจากการบริโภคค่อนข้างซบเซา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบ 5 เดือนติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี จากร้อยละ -.04 ในเดือนมกราคม ปรับเพิ่มมาเป็น -1.3 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงอาจกล่าวได้ว่า สภาวะดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายภาวะเงินฝืด
นอกจากนี้ ผลการจัดเก็บภาษีสรรพากรในเดือนเมษายน ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าคาดการณ์ถึงร้อยละ 5.7 และสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในไตรมาสแรกของปีนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่า การบริโภคภาคประชาชนหดตัว โดยบางส่วนมีความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จึงชะลอการใช้จ่าย ลดการบริโภคลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ขณะนี้พบว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ณ เดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 54 ลดลงจากร้อยละ 63 ในเดือนมีนาคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีเพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้เอกชนยังไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม
“เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมนัก ซึ่งเชื่อว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ กนง.ควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 เช่นเดิม”
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA NIDA กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ภาครัฐควรใช้นโยบายการคลังเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่า โดยต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อการลงทุนในระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านบาท ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า อีกทั้งยังเป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปีหน้าอีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลมีช่องทางการนำเงินมาลงทุนทั้งการก่อหนี้สาธารณะที่ยังสามารถดำเนินการได้ตามกรอบไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ซึ่งในไตรมาส 1/58 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 43.5 จึงยังสามารถขยายตัวได้อยู่ นอกจากนี้ ภาครัฐอาจใช้ช่องทางตลาดทุนในการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้การดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานสัมฤทธิผลได้เร็ว และพร้อมก้าวเข้าสู่ AEC ได้อย่างเต็มศักยภาพ