xs
xsm
sm
md
lg

เสียงสะท้อนจากพื้นที่ ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์
กลางเดือนที่ผ่านมา มีข่าวน่าชื่นชม ที่มาพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาท่านใหม่ นั่นคือ “คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) โดยมี รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ เป็นประธาน มีไฟเขียวปรับปรุงกรอบทีคิวเอฟ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถาบันอุดมศึกษา” นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีในช่วงขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา เรื่องราวของอาจารย์ เอ (นามสมมติ) ต่อไปนี้ เป็นเรื่องจริงที่สะท้อนประเด็นท้าทายที่ กระทรวงศึกษาธิการ และกกอ. ควรพิจารณาว่า อาจารย์ เอ ซึ่งเป็นคนมีความสามารถ มีผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด จะได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ผู้รับผิดชอบหลักสูตรระดับปริญญาโท ตามความตั้งใจที่มุ่งพัฒนามหาบัณฑิตในวิชาชีพให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการหรือไม่
อาจารย์ เอ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักสูตรระดับปริญญาโท โดยเป็นประธานหลักสูตร ในระหว่าง เดือนตุลาคม 2554 - เดือน ตุลาคม 2556 และปฎิบัติหน้าที่ในฐานะอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน อาจารย์ เอ ได้นำความรู้ความสามารถด้านการอุดมศึกษา (Higher Education) ซึ่งเป็นสาขาที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก มาใช้ในการบริหาร และพัฒนาหลักสูตร รวมถึงพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี เป็นผลให้การดำเนินงานของหลักสูตรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และหลักสูตรเป็นที่ได้รับการยอมรับ มีผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อจำนวนมากเมื่อเทียบกับหลักสูตรสาขาเดียวกันในสถาบันอื่น นอกจากนี้ อาจารย์ เอ ยังได้รับการแต่งตั้งจากสภาวิชาชีพให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการตรวจประเมินสถาบันและรับรองหลักสูตรในระดับประเทศอีกด้วย
อาจารย์ เอ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีประวัติการศึกษาทั้งในสาขาวิชาชีพ การบริหารธุรกิจ และการอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาองค์ความรู้หลังปริญญาผ่านการฝึกอบรมและการวิจัยในด้านต่างๆ ทั้งการบริหารจัดการ การพัฒนาภาวะผู้นำและการบริหารบุคลากรในงานเภสัชกรรม รวมถึงการเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการบรรยายเกี่ยวกับการจัดการทางเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้วยังมีประสบการณ์การเป็นผู้บริหารทั้งในภาครัฐ และเอกชนอีกด้วย
จากคุณสมบัติ และผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของอาจารย์ เอ ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นวิชาชีพ และการใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการทางเภสัชกรรม ทั้งในมุมมองของความเป็นวิชาชีพโดยตรง และมุมมองในเชิงประยุกต์ความรู้ด้านการจัดการจากแนวคิดทฤษฎีที่ได้รับจากการศึกษาทั้งในระดับปริญญาโทและเอกมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้อย่างชัดเจน
วันที่ 29 กันยายน 2558 สกอ. ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับอาจารย์ เอ สรุปความว่า อาจารย์ เอ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตร ที่มีคุณวุฒิปริญญาเอกทางด้านอุดมศึกษา ซึ่งไม่ตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่เปิดสอน ไม่สอดคล้องตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2548 ที่กำหนดให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ต้องเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีคุณวุฒิปริญญาเอก หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ในสาขานั้นหรือสาขาที่สัมพันธ์กัน จึงเห็นสมควรให้มหาวิทยาลัยจัดหาอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรให้มีคุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่เปิดสอน ทั้งนี้เพื่อคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตร
การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อขวัญกำลังใจของ อาจารย์ เอ และผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าการพิจารณาคุณสมบัติของอาจารย์ที่ทำหน้าที่ผู้รับผิดชอบหลักสูตรนั้น ควรใช้หลักการพิจารณาที่มากกว่าการใช้เกณฑ์เรื่องคุณวุฒิการศึกษาเพียงอย่างเดียว รวมถึงการพิจารณาตามเกณฑ์นั้น ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดเกณฑ์ด้วย เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 17 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้ หรือมีความจำเป็นต้องปฏิบัตินอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่จะพิจารณา”
ผู้เขียนจึงขอเสนอท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โปรดพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อให้ทบทวนข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และเสนอให้อาจารย์ เอ สามารถทำงานบริหารจัดการเกี่ยวกับหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร การติดตามประเมินผลหลักสูตร ในฐานะเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น