xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน 15 ปี คดี “สุราแช่” กติกากีดกันการแข่งขัน เมื่อ “ศาลปกครองสูงสุด” สั่งเพิกถอนประกาศ 4 ฉบับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปิดตำนานคดี “สุราแช่ สุราชุมชน สุราโอทอป” กติกากีดกันการแข่งขัน กว่า 15 ปี เมื่อ “ศาลปกครองสูงสุด” สั่งเพิกถอนประกาศ 4 ฉบับ “วิธีการบริหารงานสุรา” ของ ก. คลัง ก.อุตสาหกรรม สรรพสามิต ในปี 2543 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เผย เป็นกติกาที่ออกมา เพื่อให้เจ้าใหม่คิดจะผลิตเหล้าเบียร์มาขายแข่ง หากทุนไม่ใหญ่ เป็นรายเล็กรายน้อย ก็จะหมดสิทธิผลิตขายแข่ง

วันนี้ (19 ก.พ.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง ศาลปกครองพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ ด้วยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๒๖๗/๒๕๕๘ ระหว่าง นางสงวน คชชาญ ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน ผู้ฟ้องคดี กับ กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๒ กรมสรรพสามิต ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี โดยพิพากษาเพิกถอนประกาศ

1. กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานสุรา ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๓

2. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. ๒๕๔๓ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๓

3. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. ๒๕๔๓ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๓

และ 4. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. ๒๕๔๔ (ฉบับที่ ๓) ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๔

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙

ไกรรัช เงยวิจิตร
รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่ง
เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

มีรายงานว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 และ 2544 รวม 3 ฉบับ และเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตโรงงานสุรา พ.ศ. 2543 ซึ่งปลายปี 2543 คนไทย 7 คน ประกอบด้วย นางสงวน คชชาญ, นางบุญช่วย ประชาราษฎร์, นางเขมา เหลี่ยมดี, นางสมใจ เชิดกาย, นางจำเริญ วันชนะ, นายพงษ์พันธ์ บุญตะนัย และนางทองดี จะชนรัมย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการออกกติกาสุรากีดกันการแข่งขัน ได้ร้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนประกาศที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว และศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาให้เพิกถอนประกาศกระทรวงดังกล่าว

ที่มาของคดีนี้ ช่วงปี 2540 กรมสรรพสามิต เห็นว่า โรงงานสุราของรัฐที่ให้เอกชนเช่าจะหมดสัญญาในปลายปี 2554 ประกอบกับขณะนั้นประเทศไทยได้ทำข้อตกลงกับองค์การการค้าโลก เรื่องการค้าเสรี ที่จะต้องเปิดการค้าเสรีสุรา หลังจากปี 2542 เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ไม่ผูกขาดเหมือนที่เคยเป็นมา มีการแก้ไขกฎกติกาขึ้นมาใหม่ 3 เม.ย.2543 กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกระทรวงเรื่อง “หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานสุรา” ขึ้นมาใหม่

ต่อมา 6 ต.ค. 2543 กระทรวงการคลังก็ได้มีการออกประกาศกระทรวง เรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 โดยนำรายละเอียดประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่แบบ สาระสำคัญของกฎกติกากำหนดไว้ดังนี้ โรงงานผลิตสุรากลั่นประเภท วิสกี้ บรั่นดี ยิน จะต้องมีกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน และต้องมีพื้นที่โรงงานไม่น้อยกว่า 200 ไร่

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นสุรากลั่นอย่างอื่น (ที่มีนายทุนใหญ่เจ้าเก่าเป็นเจ้าของ) ต้องมีกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 90,000 ลิตร และมีพื้นที่โรงงานไม่น้อยกว่า 350 ไร่ ส่วนสุราแช่หรือเบียร์นั้น ถ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ต้องมีกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือไม่น้อยกว่าปีละ 16 ล้านขวด ถ้าเป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็ก ผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีกำลังผลิตต่ำกว่า 1 แสนลิตรแต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตร

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า กติกาที่ออกมา เจ้าใหม่คิดจะผลิตเหล้าเบียร์มาขายแข่ง หากทุนไม่ใหญ่ เป็นรายเล็กรายน้อย ก็จะหมดสิทธิผลิตขายแข่ง ต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้สนับสนุนการผลิตสุราพื้นเมือง กะแช่ น้ำตาลเมา สาโท ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร 21 ธ.ค. 2543 จึงได้มีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการบริหารสุรา พ.ศ.2543 (ฉบับที่ 2) สาระสำคัญกำหนดไว้ว่า ผู้ขออนุญาตก่อสร้างโรงงานรายใหม่ จะต้องเป็นสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น

ต่อมารัฐบาลชุดใหม่ มีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้ผลิตสุราชุมชน สุราโอทอป 12 ธ.ค.2544 มีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารสุรา พ.ศ. 2544 (ฉบับที่ 3) สาระสำคัญอยู่ตรง…ผลิตสุราแช่พื้นเมืองได้แต่ต้องไม่ใช่เบียร์ และให้มีความแรงแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 15 ดีกรี เครื่องจักรโรงงานต้องมีกำลังรวมไม่เกิน 5 แรงม้า ใช้คนงานไม่เกิน 7 คน ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตตามาว่า กฎกติกานี้สนับสนุนหรือขัดขวางสุราชุมชนกันแน่




กำลังโหลดความคิดเห็น