xs
xsm
sm
md
lg

เรียกใช้บริการกำจัด “มด-หนู-ปลวก-แมลงสาบ” ขอดูหนังสือสัญญา ช่วยรู้ทันแก้ไขพิษจากสารเคมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. เตือนใช้บริการกำจัดแมลง ปลวก หนู ในบ้าน - โรงแรม - ที่พัก ตรวจใบ วอ.3 วอ.2 ก่อนทุกครั้ง พร้อมขอดูหนังสือสัญญาให้บริการใช้สารเคมีใดในการกำจัด ช่วยรู้อาการเมื่อเกิดพิษ และวิธีแก้

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนและสถานประกอบการด้านที่พัก ทั้งโรงแรมและรีสอร์ต นิยมหันมาใช้บริการบริษัทกำจัดปลวก มด แมลง หนู เป็นจำนวนมาก ซึ่งการประกอบกิจการดังกล่าวเป็นการนำสารเคมีวัตถุอันตรายไปใช้ เพื่อจัดการป้องกัน ควบคุมกำจัดแมลงและสัตว์อื่น ซึ่งตามกฎหมายการมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตราย เพื่อใช้รับจ้างตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (วอ.3) ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ ส่วนชนิด วอ.2 จะต้องมีใบรับแจ้งดำเนินการ โดยการยื่นขออนุญาตและการแจ้งดำเนินการนั้น ผู้ประกอบกิจการใช้รับจ้างต้องยื่นความจำนงที่ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรับจ้างต้องจัดให้มีผู้ควบคุมการใช้วัตถุอันตรายเพื่อรับจ้าง เพื่อให้การประกอบกิจการรับจ้างนั้นมีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีประสิทธิภาพปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาบุคลากรเฉพาะที่มีความรู้ความชำนาญควบคุมการปฏิบัติงานใช้วัตถุอันตราย เพื่อใช้รับจ้างจัดการแมลงและสัตว์อื่น โดยออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ควบคุมการใช้วัตถุอันตรายเพื่อใช้รับจ้าง พ.ศ. 2550 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายเพื่อใช้รับจ้างที่มีคุณสมบัติผ่านการอบรมและทดสอบความรู้โดยหน่วยงานและตามหลักสูตรที่กำหนดต้องเข้ารับการอบรมต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูความรู้ ตามทันเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ ผู้ควบคุมการใช้วัตถุอันตรายเพื่อใช้รับจ้างต้องต่ออายุหนังสือรับรองทุก ๆ 3 ปี

สำหรับผู้บริโภคเมื่อต้องเลือกบริษัทที่รับจ้างบริการกำจัดปลวก มด แมลง หนู ในบ้านเรือน อาคารสถานที่ สำนักงาน โรงแรม โรงเรือนต่าง ๆ มีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้ ข้อ 1. ตรวจสอบดูว่าผู้รับจ้างนั้นมีใบอนุญาต วอ.3 หรือ ใบรับแจ้ง วอ.2 หรือไม่ ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลทั้งชื่อ ที่ตั้งของผู้ให้บริการ และชื่อผู้ควบคุมการใช้วัตถุอันตรายตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมี รวมถึงชื่อและเลขทะเบียนของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตให้นำไปใช้ให้บริการอย่างถูกต้อง 2. ตรวจสอบเอกสาร “หนังสือสัญญาการให้บริการ” โดยมีการระบุรายละเอียดสารเคมีวัตถุอันตรายที่ใช้ให้บริการ เช่น คำเตือน อาการเกิดพิษ วิธีแก้พิษ เป็นต้น 3. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่นำมาให้บริการต้องติดฉลากและต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียนวัตถุอันตราย วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. ฉลากต้องมีการแสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน กรณีแบ่งถ่ายสารเคมีต้องติดชื่อวัตถุอันตรายที่ภาชนะแบ่งนั้น และขอดูฉลาก ประกอบด้วย อ่านเอกสารคำแนะนำความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ (ถ้ามี) 4. สังเกตการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานใช้ผลิตภัณฑ์ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้ตามที่ระบุไว้บนฉลาก อัตราส่วนการผสมใช้งาน เครื่องมือ วิธีการที่ถูกต้อง และ 5. ให้ผู้อาศัยและสัตว์เลี้ยงออกจากบริเวณดังกล่าวจนกว่าการใช้สารเคมีเสร็จสิ้นและพื้นผิวปราศจากวัตถุอันตรายแล้ว” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า วัตถุอันตรายที่ใช้ในการควบคุมป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่น สามารถทำให้เกิดอันตราย หรือเกิดพิษจากการได้รับสัมผัสวัตถุอันตรายทางภายนอก ได้แก่ ผิวหนัง นัยน์ตา หรือระบบทางเดินหายใจ การดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เกิดผลความเป็นพิษต่อระบบภายในร่างกาย หรืออาจเกิดการแพ้ได้ด้วย นอกจากความเป็นพิษต่อคนและสัตว์แล้วยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวัตถุอันตรายกำจัดแมลงและสัตว์อื่นบางชนิดสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น การใช้วัตถุอันตรายเพื่อการจัดการแมลงและสัตว์อื่นอย่างปลอดภัยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น