ยุคนี้เราเริ่มเห็นหลายๆ บริษัทหันมาแตกไลน์ทำธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักเดิมกันมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่ฮิตกันในช่วงปีสองปีหลังนี้ บางบริษัทถือว่านำมาต่อยอดธุรกิจเดิมได้ แต่บางบริษัทก็แทบไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิมแม้แต่น้อย เร็วๆ นี้ยังมีข่าวของหุ้นตัวหนึ่งที่ไปซื้อกิจการธุรกิจโรงแรมที่ยังมีปัญหาด้านการเงินมาไว้ด้วยซ้ำ
กลยุทธ์ในการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ หรือ Diversify มีไว้ใช้ในการกระจายกลุ่มธุรกิจไม่ให้บริษัทพึ่งพารายได้จากเพียงแค่ธุรกิจเดียว หรือมีลูกค้าเพียงไม่กี่ราย จุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันความเสี่ยง และหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ แต่บางบริษัทที่หันไปทำธุรกิจอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่น่ามีความชำนาญ หรือฉีกไปจากธุรกิจเดิมแบบสุดขั้ว ดูแล้วน่าจะเข้าข่ายการทำธุรกิจแบบมั่วๆ มากกว่ากระจายความเสี่ยง
ลองคิดดูครับว่า ในโลกธุรกิจปัจจุบันที่มีการแข่งขันรุนแรง และเศรษฐกิจที่ไม่ได้เติบโตมากนัก การที่จะอยู่รอดในธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญในกิจการนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง การเป็นผู้เล่นรายใหม่แม้จะมีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อนใช่ว่าจะแข่งขันกับผู้เล่นเดิมได้ จุดนี้ผมมองว่าเป็นความเสี่ยงของตัวธุรกิจเอง และผู้ถือหุ้น รวมถึงนักลงทุนที่จะต้องแบกรับหากเกิดความผิดพลาดในการเข้าลงทุน
ยุคหนึ่งของการทำธุรกิจเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วจะนิยมการกระจายธุรกิจออกไปในหลายๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น อย่างเช่น มิตซูบิชิ ก็มีทั้งธนาคาร เครื่องใช้ไฟฟ้า แม้แต่รถยนต์ หรือซัมซุง ของเกาหลีก็มีธุรกิจในมือจำนวนมาก แม้แต่ประเทศไทยเองช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทขนาดใหญ่ก็นิยมลงทุนหลากหลายธุรกิจ ที่ฮิตๆ ก็อย่างอสังหาริมทรัพย์ สนามกอล์ฟ โรงแรม และต้องมีบริษัทเงินทุนของตัวเอง
แต่ยุคหลังมานี้เห็นได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ของโลกพยายามที่จะลดขนาดของธุรกิจลงให้เหลือเฉพาะธุรกิจที่มีความชำนาญเท่านั้น เพราะการแข่งขันในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้นถึงจะแข่งขันได้ คนที่ทำธุรกิจแบบ “เป็ด” คือ ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งสักอย่างไม่น่าจะมีที่ยืนได้อีกในมุมมองของผม
ลองเปรียบเทียบกับนักฟุตบอลก็ได้ครับ นักเตะที่มีจุดเด่นเฉพาะด้านชัดเจน อย่างเช่น เตะฟรีคิกแม่น เลี้ยงบอลคล่อง ยิงประตูได้เยอะ มักจะมีตำแหน่งลงเล่นชัดเจน แต่นักเตะสารพัดประโยชน์ที่เล่นได้ทุกตำแหน่งกลับไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร
สรุปคือ นักลงทุนต้องมองความเสี่ยงให้ออกครับว่าการที่บริษัทที่เราถือหุ้น หรือสนใจจะลงทุนเข้าไปทำธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญจะส่งผลเสียต่อกิจการในอนาคตหรือไม่ เพราะแม้แต่ดีลการเทกโอเวอร์ซื้อกิจการในอดีตหลายๆ ดีล ที่ดูแล้วน่าจะสามารถซินเนอร์จีกับธุรกิจเดิมได้ แต่ก็มีหลายดีลที่ไม่ประสบความสำเร็จ สูตร 1+1= 3 จึงไม่เกิดขึ้นจริงเสมอไปในโลกธุรกิจ
อย่างน้อยถ้าเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ขอให้ดึงผู้บริหารที่มีความชำนาญห รือเคยบริหารบริษัทนั้นๆ มาก่อนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจยังพอมีความเสี่ยงต่ำลงได้ แต่ถ้าเป็นการเริ่มธุรกิจใหม่โดยไม่มีผู้ชำนาญมาบริหารผมมองว่าเป็นความเสี่ยงแน่นอน จุดนี้ต้องวิเคราะห์เกมให้ออกครับ
นเรศ เหล่าพรรณราย
นเรศ เหล่าพรรณาย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง