บล.เออีซี มองแนวโน้ม SET ปีหน้ายังมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน พร้อมระบุ 3 ปัจจัยเสี่ยงในประเทศ และอีก 5 ปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ แนะกลยุทธ์ลงทุนในกลุ่มที่เป็นจุดแข็งของ ศก.ไทย
นายจักรกริช เจริญเมธาชัย กรรมการผู้จัดการ บล.เออีซี (AEC) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 59 ที่ระดับ 1,390 จุด ภายใต้สมมติฐานที่ประสิทธิภาพทำกำไรระยะกลาง (LT Returns on Equity) อยู่ที่ 14% ระดับต้นทุนส่วนผู้ถือหุ้นในช่วง 11% และมีระดับ Fwd PER ที่ระดับ 14.5 เท่า ทั้งนี้ ในแง่ของความผันผวน SET Index ในปี 59 จะมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 1,080-1,390 จุด
ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนประเมินว่า กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยปี 59 และปี 60 จะอยู่ที่ 96 บาท และ 109 บาท ตามลำดับ โดยในแง่ของการขยายตัวผลการดำเนินงานปี 59 ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ 10%YoY
"ทิศทางตลาดปี 59 คาดดัชนีจะอยู่ในกรอบ 1,080-1,390 จุด ซึ่งถือว่ายังมีความผันผวน ทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมองหุ้นต่างๆก็น่าจะมีการปรับลดประมาณการลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 1/59 เป็นต้นไป ขณะที่กลุ่มแบงค์ ก็น่าจะได้รับผลกระทบจาก NPL ที่สูงขึ้น และกลุ่มสื่อสาร ระดับการทำกำไรจะลดลง จากที่มีการลงทุนในเรื่องของ 4G อย่างไรก็ตามประเมินในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59 น่าจะเป็นช่วงของความยากลำบาก แต่ครึ่งปีหลัง เรามีความหวังในเรื่องของการเปิดประมูลของภาครัฐ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตลาด โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3/59"นายจักรกริช กล่าว
ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียน ประเมินว่า กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยปี 59 และ ปี 60 จะอยู่ที่ 96 บาท และ 109 บาท ตามลำดับ โดยในแง่ของการขยายตัวผลการดำเนินงานปี 59 ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ 10%YoY
“ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นไทยปี 58 มีการปรับลดลงแล้ว 6.4% โดยหลักๆ เป็นการปรับลดผลการดำเนินงานใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ พลังงาน สื่อสาร และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ปรับลดลง ต้นทุนการประมูล 4G ที่เพิ่มสูงขึ้น และการขยายตัวของสินเชื่อที่ต่ำกว่าคาดและระดับ NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น และในปี 2559 มีโอกาสถูกปรับลดผลการดำเนินงานลง 4.5%“นายจักรกริช กล่าว
สำหรับปัจจัยบวกในประเทศในปี 59 ประเมินว่าภาครัฐฯ มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในส่วนของงบลงทุน และในส่วนของเชิงนโยบาย โดยฝ่ายวิเคราะห์แบ่งนโยบายเศรษฐกิจที่ที่สำคัญในปี 59 ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.นโยบายด้านการลงทุน และการประมูล โครงการลงทุนภาครัฐฯ จะมีการเบิกจ่ายคาดหวังที่ 2.5 แสนล้านบาท และการประมูล 7.2 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 59
2.นโยบายด้านการจัดสรรเงินและปรับปรุงด้านกฎหมายเพื่อเร่งการลงทุน ทั้งการระดมทุนผ่าน Thailand Infrastructural Fund และการอนุมัติลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม และ 3.การออกนโยบายสนับสนุนปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่ การปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี, การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกการเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล (Medical Hub) และการแก้ไขกฎหมายความเสี่ยงด้านการบิน
ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ประเมินว่ายังคงมาจากเรื่องการเมืองทั้งในแง่ของการผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้ทันในช่วงครึ่งปีหลังของปี 59 เพื่อให้ทันกำหนดการเลือกตั้งช่วงกลางปี 2560 และประเด็นเรื่องการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าจากต่างประเทศ ประเด็นเรื่องปัญหาภัยแล้งมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ มองว่า ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศจะมีผลมากกว่าความเสี่ยงในประเทศ โดยมองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในปี 59 อยู่ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความเสี่ยงเรื่องการหดตัวของทุนสำรองของประเทศจีน และการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน, การหดตัวของสภาพคล่องโลกที่เกิดจากแรงขายตราสารหนี้ในสหรัฐฯ , ความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และความตึงเครียดของการเมืองระหว่างประเทศ
ด้านราคาน้ำมัน ประเมินว่าน่าจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และน่าจะลดลงมาสู่ระดับ 30-35 เหรียญ/บาร์เรล ในช่วงไตรมาส 1/59 ซึ่งอาจจะกดดันกลุ่มพลังงาน และน่าจะทำให้มีการปรับลดประมาณการการเติบโตลงได้อีก แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันจะกลับมาสู่ระดับ 50 เหรียญ/บาร์เรล ได้ในช่วงกลางปี 59 โดยให้จับตาดูการปิดกิจการของกลุ่มเชลล์ออยล์ หากมีความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว จะส่งผลต่อราคาน้ำมันที่จะเริ่มคงที่
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ในปี 59 แนะนำเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เราให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล ,กลุ่มท่องเที่ยวและการโรงแรม, กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ, กลุ่มค้าปลีก โดย Top Picks ในกลุ่มที่เป็น Big Cap. ได้แก่ BDMS, CENTEL, BJC, AOT, IRPC ในขณะที่หุ้น Medium to Small Cap ที่เป็น Top Buy ได้แก่ KAMART, FORTH, SMPC, TKS และ NYT
“อุตสาหกรรมที่มีโอกาสถูกเพิ่มน้ำหนักการลงทุน และมีโอกาสที่จะโดดเด่นในปี 2559 คือ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่เรารอผลบวกของการขยายธุรกิจในต่างประเทศ (CBG, ICHI) และกลุ่มธุรกิจ Digital TV ที่เรารอดูแนวโน้มการเพิ่มสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มตามเรทติ้ง (WORK, RS) ส่วนอุตสาหกรรมที่เราให้น้ำหนักต่ำกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มธนาคาร, กลุ่มอสังหาฯ และกลุ่มธุรกิจเกษตร" นายจักรกริช กล่าว