กคช.จับมือ ม.มหิดล ทำแผนศึกษาพัฒนาที่อยู่อาศัยเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่จะทะลักเข้าไทย รองรับประชาคมอาเซียน ชี้สิงคโปร์มีระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน เผยภายในปี 2564 จะมีแรงงานต่างชาติในไทยเพิ่มเป็น 4.4 ล้านคน 99% มาจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน พม่า เขมร และลาว
นางสุชาดา ศิโรรังษี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย (กคช.) เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำ “โครงการวิจัยและพัฒนาการสำรวจและการคาดประมาณความต้องการที่อยู่อาศัยของประเทศไทย ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 รองรับประชาคมอาเซียน” เพื่อเตรียมพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ว่า เพื่อศึกษาคาดประมาณจำนวนประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 รวมทั้งสำรวจจำนวน และการตั้งถิ่นฐาน/การกระจายตัวของประชากรที่มีรายได้น้อยจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทย
ตลอดจนศึกษานโยบายของรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียน ในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยรองรับประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะกรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์ ที่มีมาตรการการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารที่อยู่อาศัยรองรับแรงงานต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานที่สิงคโปร์ จะต้องอยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง รวมถึงกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายภาษีแรงงานต่างชาติ (Levy Tax) กำหนดให้มีการทำประกันสุขภาพเป็นวงเงินกว่า 300,000 บาท ประกันอุบัติเหตุคิดรวมเป็นวงเงินกว่า 1,400,000 บาท และนายจ้างยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาแรงงาน (SDF-Skill Development Fund)
นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้กำหนดพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติ (กำหนดโซนนิ่ง) อีกด้วย ซึ่งการเคหะแห่งชาติ สามารถนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับประชาคมอาเซียนต่อไป
ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล หัวหน้าโครงการวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติในอาเซียนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3,800,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2564 คาดการณ์ว่า หากมีการเปิดความร่วมมือประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,400,000 คน โดยรวมแล้ว 99% มาจาก 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า 73% กัมพูชา 14% ลาว 11% ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด รองลงมาทำอาชีพประมง/ประมงต่อเนื่อง และรับจ้างทั่วไปตามลำดับ
ทั้งนี้ คาดประมาณว่าในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2560-2564 ซึ่งอยู่ในระหว่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 แรงงานต่างชาติจะมีความต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ 160,000 หน่วย จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ที่มีความต้องการอยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ พื้นที่ตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ด่านอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จังหวัดตราด จังหวัดระนอง โดยคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ความสำคัญต่อการจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับแรงงานย้ายถิ่นต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานที่มีผลต่อกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยส่วนหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ควรจะมีที่พักอาศัยที่ได้มาตรฐานรองรับแรงงานเหล่านี้ เพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติให้เทียบเท่ากับแรงงานของไทย รวมถึงเสนอให้การเคหะแห่งชาติ จัดสร้างที่พักอาศัยประเภทเช่า เพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจรายจ่ายด้านที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติที่สามารถจ่ายได้ คิดเป็นอัตราค่าเช่าประมาณเดือนละ 4,500 บาทต่อหน่วย โดยอาศัยอยู่หน่วยละ 3-4 คน โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 1,500 บาท ส่วนปัญหาที่สำคัญคือ การบริหารจัดการที่อยู่อาศัย ต้องส่งเสริมให้เกิดการรักษาสภาพแวดล้อม และมีการกำหนดข้อบังคับในการอาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย