นักวิจัยเร่งพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ในเข็มเดียว เผยอยู่ระหว่างทดลองในลิง พบประสิทธิภาพดี ภูมคุ้มกันเกิดภายใน 14 - 28 วัน จ่อทดลองในคน คาดใช้เวลา 5 ปี ได้ใช้แน่
นพ.สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ว่า ม.มหิดล ได้พัฒนาวัคซีนเมื่อปี 2552 แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรม จึงได้มอบสิทธิในการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้กับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น สำหรับวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วไม่ได้ก่อโรค แต่จะไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน ขณะนี้ผ่านการทดลองในลิงแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพดี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสเดงกีได้ 100% ทุกสายพันธุ์ภายในเข็มเดียว โดยภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นภายใน 14 - 28 วัน และมีภูมิคุ้มกันยาวนานประมาณ 5 - 10 ปี
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยในคน เริ่มดำเนินการในปี 2559 โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรกจะทดลองในประเทศออสเตรเลีย กลุ่มตัวอย่าง 20 - 50 คน ใช้เวลา 1 ปี เฟสที่ 2 ทดลองฉีดในคนไทย เพราะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมาตลอด โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 - 400 คน ใช้เวลาในการศึกษา 2 ปี และเฟสที่ 3 ดำเนินการในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยมีประชากรกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 5,000 คนขึ้นไป ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี จึงคาดว่าน่าเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า” นพ.สุธี กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่