xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยติดบุหรี่สูงอันดับ 3 อาเซียน โปรเจกต์เอ็กซ์วิจัยวิธีเลิกบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำรวจพบเด็กไทยติดบุหรี่สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโนีเซีย มาเลเซีย หวั่นติดจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะไม่สามารถเลิกได้ 20 ปี ด้านโปรเจกต์เอ็กซ์วิจัย หาวิธีช่วยเลิกบุหรี่

ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ในเด็กไทยพบว่า สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน โดยข้อมูลการสำรวจการสูบบุหรี่ในเยาวชนระหว่างปี 2550-2556 พบว่า ในปี 2552 อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กชายไทยอายุ 13-15 ปีอยู่ที่ร้อยละ 20 รองจากอินโดนีเซีย ร้อยละ 41 กับมาเลเซีย ร้อยละ 31 ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ของเด็กหญิงไทยอายุ 13-15 ปี คือ ร้อยละ 3.8 ต่ำกว่าเด็กหญิงในประเทศบรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ ส่วนปี 2557 แม้ว่าแนวโน้มการสูบบุหรี่ในภาพรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552 แต่จำนวนคนสูบบุหรี่มีมากขึ้น ซึ่งการติดบุหรี่ในเยาวชนหากติดเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะไม่สามารถเลิกไปได้ราว 20 ปี

ผศ.ดร.ปัญญรัตน์ ลาภวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุข ม.มหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยเลิกบุหรี่ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (โปรเจกต์เอ็กซ์) ปี 2557 สนับสนุนโดย ศจย. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โปรเจคเอ็กซ์ใช้บทเรียน 8 บท ครั้งละ 40 นาที ในเวลา 6 สัปดาห์และวัดผลซ้ำ 3 เดือน เน้นในเรื่องการจัดการความเครียด การเผชิญการขาดนิโคติน เทคนิคการผ่อนคลาย การจัดการความโกรธ ควบคุมตนเอง จัดการอารมณ์ เพื่อลดความเสี่ยงการกลับมาสูบซ้ำ พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนอ้างว่าไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ คือ อิทธิพลของสังคม การติดสารเคมีของบุหรี่ และ ขาดแรงจูงใจ ซึ่งจำเป็นต้องสอนทักษะการเอาชนะอิทธิพลเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงและลดการกลับไปสูบซ้ำ

"จากการทดลองกลุ่มตัวอย่างผู้ที่สูบบุหรี่ 52 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เข้าโครงการ 46 คน พบว่าความพยายามในการเลิกบุหรี่ในกลุ่มทดลอง ที่ตอบว่าวางแผนเลิกเดี๋ยวนี้ และเลิกบุหรี่ได้แล้วขณะนี้ ในช่วงก่อนการทดลอง มีร้อยละ 3.8 และ 1.9 และเพิ่มขึ้น เป็น ร้อยละ 15.4 และ 13.5 ตามลำดับหลังการหลังการทดลอง 3 เดือน ส่วนนักเรียนกลุ่มเปรียบเทียบ ตอบว่า วางแผนเลิกเดี๋ยวนี้ และเลิกบุหรี่ได้แล้วขณะนี้ มีร้อยละ 0.0 และ 2.2 ช่วงก่อนการทดลองและ เป็นร้อยละ 8.7 และ 2.2 หลังการทดลอง 3 เดือน และ พบว่า ร้อยละ 44.2 ของกลุ่มทดลองสูบบุหรี่ลดลง และร้อยละ 7.7 เลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่อง 3 เดือน ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบมีร้อยละ 19.6 ที่สูบบุหรี่ลดลง และร้อยละ 2.2 เลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่อง 3 เดือน ทำให้สามารถสรุปได้ว่า เริ่มสูบแล้วเลิกยาก แต่สามารถเลิกได้ด้วยบทเรียนฝึกฝนความสามารถทางสังคม และทักษะการเอาชนะอิทธิพลของสังคม อย่างน้อย 6 สัปดาห์" ผศ.ดร.ปัญญรัตน์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น