xs
xsm
sm
md
lg

คาดขึ้นทะเบียน “วัคซีนไข้เลือดออก” ตัวแรกในไทย มิ.ย. ป้องกันโรคได้ 60%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิจัยคาด “วัคซีนไข้เลือดออก” ขึ้นทะเบียนในไทยสำเร็จ มิ.ย.- ก.ค. เผยประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ 60% ป้องกันสายพันธุ์ 2 ได้น้อยสุด แต่ลดความรุนแรงของโรคจนต้องนอนโรงพยาบาลได้ถึง 80% ชี้ฉีดกระตุ้นภูมิในคนเคยติดเชื้อมาแล้วให้ผลดีกว่า ผลข้างเคียงเหมือนการฉีดวัคซีนอื่น

วันนี้ (3 มี.ค.) รศ.นพ.ชูเกียรติ ศิริวิชยกุล หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมวิจัยวัคซีนไข้เลือดออก บรรยายในงานเสวนา “ความรู้สู่ประชาชน เรื่องความหวังคนไทย วัคซีนไข้เลือดออก...ฉีดหรือไม่ฉีด” ว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกจะเกิดขึ้นเพียงร้อยละ 17 จากภาวะช็อก ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น นอกจากการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายแล้ว ยังมีการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกด้วย ซึ่งวัคซีนนี้ทีมวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ได้ร่วมกับบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยหลังจากผ่านการทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว จึงเข้าสู่การวิจัยในมนุษย์ มี 3 ระยะ ซึ่งได้ทดลองในอาสาสมัครจากหลากหลายประเทศประมาณ 30,000 คน ตั้งแต่กลุ่มเด็กอายุ 2 ขวบ ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี จำนวนนี้เป็นอาสาสมัครจากไทยประมาณ 5,000 คน

รศ.นพ.ชูเกียรติ กล่าวว่า การวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกนั้น ได้ศึกษาในเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีนและผลข้างเคียง โดยเปรียบเทียบวัคซีนวัคซีนกลุ่มหลอก คือ กลุ่มที่ให้วัคซีนตับอักเสบเอ และน้ำเกลือ พบว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60% แต่เมื่อดูเฉพาะสายพันธุ์พบว่า ป้องกันสายพันธุ์ที่ 2 ได้น้อยที่สุดเพียง 36.8% ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากในไทยและมีความรุนแรง ทำให้ยังกังวลว่าอาจยังป้องกันได้ไม่ดีเท่าไร ส่วนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีความรุนแรง (ต้องนอนโรงพยาบาล) ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป พบว่า ป้องกันได้ 80.8% แต่กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปี ป้องกันได้ 56.1% สำหรับผลข้างเคียงพบว่าไม่แตกต่างจากวัคซีนหลอก โดยมีไข้ไม่ถึงร้อยละ 5 มีอาการปวดศีรษะเล็กน้อยร้อยละ 20 - 30 นอกนั้นมีอาการปวด บวมแดงบ้าง

รศ.นพ.ชูเกียรติ กล่าวว่า ควรที่จะฉีดวัคซีนไข้เลือดออกหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ ป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งขณะนี้บริษัทยังไม่เปิดเผยราคาหรือแม้แต่จะบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์แก่คนไทย รัฐบาลก็ต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มค่า คุ้มทุน และงบประมาณที่มีอยู่ด้วย ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออกตัวดังกล่าวนั้น มีการขึ้นทะเบียนในประเทศเม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และบราซิลแล้ว ส่วนประเทศไทยอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังพิจารณาอยู่ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จ มิ.ย.- ก.ค. นี้ แต่วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนนั้นใช้ป้องกันโรคได้ในอายุ 9 - 45 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่มีการศึกษาทดลองว่ามีประสิทธิภาพดีในการป้องกันโรค ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ปีนั้น ประสิทธิภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร คาดว่า อาจมาจากไม่เคยติดเชื้อ หรือมีภูมิต้านทานต่อเชื้อมาก่อน เพราะจากการศึกษาพบว่าการให้วัคซีนในกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อนให้ภูมิต้านทานได้ดีกว่า ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนต้องฉีด 3 เข็ม ทุก 6 เดือน

ภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 3 ใน 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าจะป้องกันได้นานเท่าไร แต่ข้อมูลวิจัยในสิงคโปร์ พบว่า อยู่ที่ประมาณ 3 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน รวมถึงว่าเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดด้วยหรือไม่ อย่างสิงคโปร์การระบาดน้อย ทำให้หลัง 5 ปี ภูมิคุ้มกันลดลงจนแทบไม่มีเลย แต่อย่างประเทศไทยที่มีการระบาดอยู่แล้ว อาจถูกกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้จากการติดเชื้อโดยไม่เกิดโรคตามธรรมชาติ ก็จะทำให้ภูมิต้านทานสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงอาจต้องมีการศึกษาต่อว่าจะต้องมีการฉีดกระตุ้นอีกหรือไม่ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนในกลุ่มคนอายุมากกว่า 45 ปี กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเลย เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มียุงลาย” รศ.นพ.ชูเกียรติ กล่าว


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น