xs
xsm
sm
md
lg

โซฟอสบูเวียร์ ตัวอย่างยาที่คำขอรับสิทธิบัตรไม่เข้าข่ายการได้รับสิทธิบัตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในวันที่ 20 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ นักกฎหมาย ภาคประชาสังคม ในหลายประเทศ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา ยูเครน รัสเซีย อินเดีย โมร็อกโก และไทย ได้มีการเคลื่อนไหวในประเด็น คำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ นั้นไม่เข้าข่ายสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

ไวรัสตับอักเสบซี คร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลก สูงถึง 350,000 - 500,000 รายต่อปี และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 185 ล้านราย สำหรับประเทศไทยคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 1.2 - 1.7 ล้านคน

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาด แต่คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อจึงเข้ารับการรักษาไม่ทันเวลา

ที่ผ่านมา การรักษาไวรัสตับอักเสบซีใช้ยาฉีดเพ็คกิเลตอินเตอเฟอรอน ซึ่งต้องใช้เวลาการรักษานานและมีผลข้างเคียงมาก ปัจจุบันมีการพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซี คาดว่า จะมีอัตราการรักษาหายเพิ่มขึ้น ใช้เวลาในการรักษาสั้นลง และมีผลข้างเคียงน้อยลง เช่น โซฟอสบูเวียร์ เป็นยาชนิดรับประทาน ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้เป็นแนวทางการรักษาไวรัสตับอักเสบซี

โซฟอสบูเวียร์ ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในเดือนธันวาคม 2556 และ ในเดือนมกราคม 2557 ตามลำดับ

วารสารทางการแพทย์ JAMA ปี 2557 ฉบับที่ 312(4) หน้า 353 - 361 ระบุผลการวิจัยสรุปได้ว่า ผู้ป่วยเอชไอวีที่ติดเชื้อตับอักเสบซีจีโนไทป์ 1, 2 หรือ 3 ซึ่งได้รับการรักษาด้วยยาโซฟอสบูเวียร์ ร่วมกับยาไรบาวิรินชนิดรับประทานโดยไม่ได้รับยาฉีดเพ็คกิเลตอินเตอเฟอรอน เป็นระยะเวลา 12 หรือ 24 สัปดาห์ มีอัตราอัตราการกำจัดเชื้อตับอักเสบซี สูงกว่า ผู้ป่วยซึ่งเคยรักษามาก่อนด้วยยาเพ็คกิเลตอินเตอเฟอรอนร่วมกับไรบาวิริน

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ โซฟอสบูเวียร์ ร่วมกับไรบาวิริน ในการักษาไวรัสตับอักเสบซี จีโนไทป์ 1, 2, 3 และ 4 โดยอาจพิจารณาใช้ร่วมกับยาเพ็คกิเลตอินเตอเฟอรอน ขึ้นอยู่กับชนิดของจีโนไทป์ และในเดือนพฤษภาคม 2558 องค์การอนามัยโลกได้บรรจุยาโซฟอสบูเวียร์ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก

กล่าวได้ว่า การใช้ โซฟอสบูเวียร์ ร่วมกับไรบาวิริน เป็นแนวทางในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีชนิดรับประทาน ที่ลดอาการข้างเคียง ใช้เวลาน้อยกว่าการรักษาแบบอื่น ๆ น่าจะทำให้ผู้ป่วยน่าจะเข้าถึงยาได้สะดวกขึ้น

แต่ ปัญหาที่สำคัญ คือ โซฟอสบูเวียร์มีราคาแพง ในสหรัฐอเมริการาคาเม็ดละประมาณ 30,000 บาท หรือหากรักษาจนครบ 3 เดือน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.5 ล้านบาท สำหรับในประเทศไทยเม็ดละประมาณ 1,500 บาท (ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาขึ้นทะเบียนยา ยังไม่มีจำหน่ายในไทย)

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ โซฟอสบูเวียร์ มีราคาแพง คือ การได้รับสิทธิผูกขาดตลาด จากสิทธิบัตรยา
โซฟอสบูเวียร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของยาที่มีคำขอรับสิทธิบัตรจำนวนมากที่ไม่น่าจะเข้าข่ายการได้รับสิทธิบัตร ดังตัวอย่างข้อมูลที่ระบุในรายงานการศึกษาสถานการณ์สิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ จากองค์การอนามัยโลก (http://www.who.int/phi/implementation/ip_trade/sofosbuvir_report_2014_09-02.pdf) เช่น

คำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวเนื่องกับโซฟอสบูเวียร์ รหัส WO2005003147A2 และ WO2008121634A2 มีลักษณะมาร์คุช (Markush) แต่กลับได้รับสิทธิบัตรในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อิสราเอล ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยคำขอรับสิทธิบัตรที่เป็นมาร์คุช จะอ้างอิงถึงโครงสร้างทางเคมีของสารอย่างกว้าง ๆ คือ มีโครงสร้างแกนตัวหนึ่ง และมีกลุ่มสารที่หลากหลายมาต่อกับโครงสร้างแกน คำขอรับสิทธิบัตรในรูปแบบนี้เป็นการขอรับสิทธิบัตรแบบกว้าง ๆ คลอบคลุมสารประกอบหลายตัว ซึ่งไม่สมควรจะได้รับสิทธิบัตร สิทธิบัตรที่ดีควรจะมีการจำกัดขอบเขตเฉพาะสิ่งที่แสดงการผลทดลองได้จริงเท่านั้น

ในประเทศไทย สถานะสิทธิบัตรของโซฟอสบูเวียร์ในรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าไม่พบข้อมูล ในช่วงเวลาที่นักวิจัยสืบค้นข้อมูล ณ มีนาคม 2557

อย่างไรก็ตาม หากในกรณีที่คำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวเนื่องกับโซฟอสบูเวียร์อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในประเทศไทย การพิจารณาคำขอฯนี้ควรจะใช้แนวทางการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรอย่างเข้มงวด ในการคัดกรองให้เภสัชภัณฑ์ที่ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เช่น มาร์คุช ไม่ให้ได้รับสิทธิบัตร เพื่อเปิดโอกาสให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันได้ ทำให้ยาจำเป็นมีราคาถูกลง ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น