xs
xsm
sm
md
lg

อช.เอราวัณ-คณะสัตวแพทย์ ม.มหิดล บุกตรวจสอบ “ถ้ำน้ำ” หาสาเหตุการตายฝูงค้างคาวหน้ายักษ์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - อุทยานแห่งชาติเอราวัณ พร้อมคณะสัตวแพทย์ รพ.ปศุสัตว์ ม.มหิดล กาญจนบุรี เร่งตรวจสอบ “ถ้ำน้ำ” บนเชิงเขาด้านหลังที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณที่ อว.1 พื้นที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี หาสาเหตุการตายของฝูงค้างคาวหน้ายักษ์ สาเหตุหลักคาดน้ำท่วมถ้ำบินหนีไม่ทันจนขาดอากาศหายใจ

จากกรณีชาวบ้านพบค้างคาวหน้ายักษ์ตายเกลื่อนภายในถ้ำน้ำ พื้นที่หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ร่วม 3,000 ตัว ชาวบ้านเกรงว่าอาจจะตายเพราะเชื้อโรค อีกทั้งน้ำที่ไหลผ่านถ้ำยังเป็นน้ำที่ชาวบ้านหมู่ 3 ใช้ในการอุปโภคบริโภค หลังจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ทราบจึงประสานไปยังคณะสัตวแพทย์ โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี มาตรวจสอบ และนำตัวอย่างซากค้างคาวจำนวนหนึ่งไปตรวจหาเชื้อโรค เหตุเกิดวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (28 ต.ค.) นายเสรี คงอยู่ นายอำเภอศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ร่วมกับ อ.ดร.น.สพ.มาโนชญ์ ยินดี ผอ.โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พร้อมทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอศรีสวัสดิ์ และนายสำราญ สุนทราลัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 พร้อมคณะสื่อมวลชน เดินทางไปตรวจสอบภายถ้ำน้ำจุดที่พบค้างคาวหน้ายักษ์เสียชีวิต สำหรับถ้ำน้ำอยู่บนเชิงเขาด้านหลังที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณที่ อว.1 (ถ้ำพระธาตุ) หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

สำหรับถ้ำน้ำ มีลักษณะปากถ้ำลึกลงไปจากเชิงเขาประมาณ 6 เมตร และทอดยาวไปไกลกว่า 1 กิโลเมตร ภายให้มีสภาพคล้ายห้องโถงขนาดใหญ่ และแคบสลับกันไป บางจุดต้องก้มศรีษะเดินผ่าน โดยมีปริมาณน้ำที่ไหลมาจากที่สูงอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก

ส่วนพื้นผิวของถ้ำพบขี้ค้างคาวทั้งเก่า และกระจายอยู่เต็มพื้น ใต้พื้นถ้ำพบอุโมงค์ขนาดเล็กมีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ภายในยังมีหินย้อยเหมือนถ้ำทั่วไป ซึ่งคณะของ อ.ดร.น.สพ.มาโนชญ์ ยินดี ได้นำอุปกรณ์มาตรวจสอบลักษณะของถ้ำ เพื่อนำลักษณะของถ้ำมาวิเคราะห์ว่าสาเหตุการตายของค้างคาวที่พบเกิดจากการขาดอากาศหายใจที่ถ้ำถูกน้ำท่วมเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา หรือตายเพราะเกิดจากโรคระบาดกันแน่

โดย อ.ดร.น.สพ.มาโนชญ์ ยินดี ผอ.โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่าฯ เปิดเผย เวลาประมาณ 12.30 น. ของวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานว่าพบค้างคาวเสียชีวิตอยู่ภายในถ้ำดังกล่าวโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่เป็นจำนวนมาก จึงส่งทีมสัตวแพทย์เดินทางไปตรวจสอบ จากการประมาณการจำนวนค้างคาวที่เสียชีวิตมีอยู่ประมาณ 800-1,000 ตัว สภาพมีทั้งเน่าเปื่อย และแห้ง หลังจากนำซากค้างคาวขึ้นมาได้จึงเก็บตัวอย่างมาผ่าซากตรวจสอบที่โรงพยาบาลปศุสัตว์ฯ

“จากการผ่าซากค้างคาวทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ เบื้องต้น ยังไม่สามารถพิสูจน์ หรือระบุถึงสาเหตุการตายได้เนื่องจากทุกซากเน่าเปื่อย โดยจะต้องรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ก็คงจะรู้ผล”

พร้อมกล่าวต่อว่า แต่ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ต่างให้น้ำหนักในประเด็นน้ำท่วมถ้ำ ทำให้ค้างคาวขาดอากาศหายใจ เพราะจากการสังเกตผนังของถ้ำพบว่าร่องรอยระดับน้ำค่อนข้างสูง และทราบว่าวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา น้ำได้ไหลมาจากที่สูงเข้าท่วมภายในถ้ำอย่างกะทันหัน จึงทำให้ค้างคาวที่บินหนีไม่ทันขาดอากาศหายใจ แต่เพื่อความไม่ประมาทจึงขอให้ประชาชนหยุดใช้น้ำที่ไหลผ่านถ้ำออกไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีเชื้อโรคชนิดใดปะปนอยู่

ด้านนายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากแหล่งกำเนิดเชื้อไปสู่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบแต่อย่างใด และไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวบริเวณถ้ำพระธาตุของอุทยานแห่งชาติเอราวัณแต่อย่างใดเช่นกัน เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากถ้ำพระธาตุ ประมาณ 800-900 เมตร และยังไม่ได้รับรายงานว่าค้างคาวที่อาศัยอยู่ในบริเวณถ้ำพระธาตุซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เสียชีวิตแม้แต่ตัวเดียว

ส่วนข่าวที่มีการนำเสนอไปว่า มีค้างคาวเสียชีวิตมากถึง 3,000 ตัวนั้น ขอชี้แจงว่ามีไม่ถึง เพราะหลังจากที่เจ้าหน้าที่เก็บซากค้างคาวออกมา จากการคาดการณ์มีอยู่ประมาณ 800 ถึง 1,000 ตัวเท่านั้น ซึ่งวันนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาสาเหตุการตายของค้างคาวอย่างเร่งด่วนต่อไป โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องต้นตนคาดว่า เกิดจากที่น้ำไหลเข้าท่วมถ้ำอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ทำให้ค้างคาวขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตดังกล่าว

นายสำราญ สุนทราลัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.ท่ากระดาน เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่หมู่ 3 ไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องอาศัยน้ำที่ไหลมาจากถ้ำในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งใช้ในด้านการเกษตร ส่วนตัวคาดว่าเหตุการณ์ที่ค้างคามตายพร้อมกันเป็นจำนวนมากคงเกิดจากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากน้ำไหลเข้าท่วมถ้ำเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ส่วนการใช้น้ำจากถ้ำก็คงจะยังคงเป็นปกติ แต่ก็อยากจะฝากบอกประชาชนว่า ก่อนนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคก็ให้ต้มให้น้ำสุกเสียก่อน

มีรายงานข่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้นำพาคณะสื่อมวลชนเข้าไปสำรวจภายในถ้ำตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. ขณะสำรวจภายในถ้ำได้ยินเสียงไหลของน้ำดังมากจากด้านในของถ้ำที่มาสามารถเดินเข้าไปถึง เพราะระดับน้ำจุดที่เข้าไปอยู่ที่ระดับเอว โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ให้ข้อมูลว่า ถ้ำน้ำแห่งนี้มีน้ำตกที่สวยงาม แต่การเดินเข้าไปค่อนข้างลำบาก บางจุดต้องหมอบคลานเข้าไป ซึ่งถ้ำน้ำ หากเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติเป็นอย่างมาก

แต่เนื่องจากชาวบ้านหมู่ 3 ไม่มีแหล่งน้ำใช้จึงจำเป็นต้องห้ามนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านหมู่ 3 ทั้งหมด และการสำรวจของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ยังพบซากของค้างคาวอยู่ตามพื้นจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มาก ซึ่งเวลาประมาณเที่ยงคืน คณะเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงจะเดินทางกลับ เนื่องจากต้องรอจนกว่าจะสามารถวิเคราะห์ขนาด และลักษณะของถ้ำได้ รวมทั้งจะต้องจับค้างคาวที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ได้เสียก่อน เพื่อนำไปพิสูจน์เปรียบเทียบกับซากค้างคาวที่นำไปผ่าซากพิสูจน์แล้วก่อนหน้านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น