xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญไวรัสสัตว์สู่คน รพ.จุฬาฯ ลงตรวจ “ถ้ำน้ำ” เจ้าปัญหาหลังค้างคาวหน้ายักษ์ตายปริศนากว่าพันตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - ผู้เชี่ยวชาญไวรัสสัตว์สู่คน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อม ผอ.สบ.3 (บ้านโป่ง) ลงพื้นที่ตรวจถ้ำน้ำเจ้าปัญหา หลังค้างคาวหน้ายักษ์ตายปริศนากว่า 1,000 ตัวเผย 3 เดือนที่ผ่านมา เคยลงพื้นที่สุ่มตรวจแต่ไม่พบไวรัสชนิดใดจากตัวค้างคาว พร้อมประสานผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเก็บตัวอย่างน้ำไปพิสูจน์ ส่วนผลตรวจจาก ม.มหิดล คาดอีก 2 อาทิตย์รู้ผล

จากกรณีค้างคาวหน้ายักษ์เสียชีวิตภายในถ้ำน้ำ พื้นที่หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ เหตุเกิดวันที่ 27 ต.ค.58 ที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ (29 ต.ค.) นายยรรยง เลขาวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน ดร.ประทีป ด้วงแด ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมคณะ และนายธรรมรัตน์ วงศ์โสภา ผู้อำนวยการส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายปรยุตม์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ นายฐิติ โสมภีร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบภายในถ้ำน้ำเพื่อเก็วตัวอย่างซากค้างคาวหน้ายักษ์ไปตรวจสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรน่าเมอรส์ และชนิดอื่นๆ จากตัวอย่างมูลค้างคาว

ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เดินทางมาเก็บตัวอย่างค้างคาวที่มีอยู่ภายในถ้ำแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ประกอบด้วย ค้างคาว 11 ชนิด รวม 43 ตัว และผลการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสในครั้งนั้นปรากฏว่า ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่าเมอรส์ หรือเชื้อโคโรน่าอื่นๆ แต่อย่างใด

สิ่งที่ดำเนินการในครั้งนี้คือ หลังจากที่ค้างคาวได้เสียชีวิตพร้อมกันเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงเดินทางมาเก็บตัวอย่างค้างคาวเพิ่มเติม จำนวน 50 ตัว เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคสัตว์สู่คน รวมทั้งแบคทีเรีย และเชื้อราด้วย

ข้อเสนอแนะคือ ให้ความรู้เรื่องไวรัสจากค้างคาวที่ถูกต้องแก่ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับค้างคาว เพื่อให้เกิดความตระหนักแต่ไม่ตระหนก และให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสจากค้างคาวแก่ประชาชนที่ต้องสัมผัสมูล และคัดหลั่งอื่นๆ จากค้างคาว รวมทั้งให้คำแนะนำในการสังเกตอาการเจ็บป่วยของตนเองแก่ประชาชนที่ต้องสัมผัสกับมูลค้างคาว ที่อาจเข้าข่ายการติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ เช่น อาการทางระบบทางเดินหายใจที่ไม่ใช่เกิดจากไข้หวัด หาสาเหตุก่อโรคไม่พบ

นายยรรยง เลขาวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทางกรมอุทยานฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะถ้ำน้ำดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำเพียงแห่งเดียวที่ชาวบ้านหมู่ 3 กว่า 200 ครัวเรือนใช้น้ำร่วมกัน ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพค้างคาวเมื่อวันที่ 27 ต.ค.พบว่า มีประมาณ 800-1000 ตัว ตายมาแล้วประมาณ 1 อาทิตย์ มีลักษณะเน่าเปื่อย บางซากเหลือเพียงเศษกระดูก

แต่ภายในถ้ำก็ยังคงพบค้างคาวบินวนอยู่เป็นจำนวนมาก และจากการที่ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ คาดว่า สาเหตุการตายของค้างคาวน่าจะเกิดจากการที่วันที่ 21 ต.ค.ได้เกิดน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมภายในถ้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ค้างคาวขาดอากาศหายใจทำให้เสียชีวิตในที่สุด

แต่เพื่อความไม่ประมาท อุทยานแห่งขาติเอราวัณ จึงทำหนังสือแจ้งประสานไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 จ.ราชบุรี เพื่อขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาเก็บตัวอย่างน้ำ นำไปตรวจสอบคุณภาพน้ำ ที่ชาวบ้านหมู่ 3 ต.ท่ากระดานใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างละเอียด ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนจะได้เชื่อมั่นในคุณภาพของน้ำต่อไป

ด้าน อ.ดร.น.สพ.มาโนชญ์ ยินดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า วันที่ 27 ต.ค.เราได้เก็บซากค้างคาวมาผ่าซากพิสูจน์แล้วครั้งหนึ่ง

แต่ผลการตรวจหาเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ยังไม่ออกมา ต้องรออีกประมาณ 2 อาทิตย์จึงจะรู้ผล และวันที่ 28 ต.ค.เราได้เก็บตัวอย่างจากตัวค้างคาวที่ยังมีชีวิตอยู่ และอาศัยอยู่ภายในถ้ำน้ำสถานที่เกิดเหตุทั้งหมด 36 ตัว ผลการตรวจคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ หรืออย่างช้าที่สุดจะใช้เวลาประมาณ 4 อาทิตย์

ส่วน นายปรยุตม์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได่ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณแต่อย่างใด โดยยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวตามปกติ ในส่วนของประชาชนในพื้นที่หมู่ 3 ที่อาศัยน้ำในถ้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ต่างก็ยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ และยังคงใช้น้ำอยู่ตามปกติเช่นกัน โดยไม่มีความวิตกแต่อย่างใด

***ขอบคุณภาพจาก - อุทยานแห่งชาติเอราวัณ***



กำลังโหลดความคิดเห็น