กาญจนบุรี - หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เผยผลตรวจซาก และมูลค้างคาวหน้ายักษ์ถ้ำน้ำ ออกมาแล้ว พบปลอดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน ส่วนคุณภาพน้ำดี
เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (24 ธ.ค.) นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เปิดเผยว่า จากกรณีค้างคาวหน้ายักษ์ตายเกลื่อนภายในถ้ำน้ำ พื้นที่หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 27 ต.ค.58 ที่ผ่านมา ภายหลัง นายยรรยง เลขาวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายเสรี คงอยู่ นายอำเภอศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ร่วมกับ อ.ดร.น.สพ.มาโนชญ์ ยินดี ผอ.โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พร้อมทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน ดร.ประทีป ด้วงแด ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างซากค้างคาว มูลค้างคาว ไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อไวรัส นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 8 ก็ได้นำตัวอย่างของน้ำไปตรวจสอบคุณภาพ
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้รับสำเนาหนังสือจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 8 ที่ ทส.0205(8.6)/939 ลงวันที่ 17 พ.ย.2558 เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ถ้ำน้ำ กรณีพบค้างคาวตายในถ้ำ แจ้งว่า จากผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำพบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คุณภาพน้ำประเภท 2 (ดี) และสำหรับค่าโลหะหนัก (Fe, Cd, Cr, Mn, Ni, Pd, Zn, Cu,) จัดว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำประเภทที่ 2 (ดี)
นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้รับหนังสือสำเนาจากศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกฯ ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ ศสก.170/2558 ลงวันที่ 18 พ.ย.2558 เรื่องผลการตรวจเชื้อไวรัสจากค้างคาว โดยแจ้งว่า คณะทำงานจากศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกฯ ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้ลงพื้นที่จับ และเก็บตัวอย่างจากค้างคาวภายในถ้ำน้ำ ระหว่างวันที่ 28-29 ต.ค.2558 เพื่อตรวจเชื้อไวรัสที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ หรือเป็นสาเหตุการตายของค้างคาว
โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Aqriculture Organization-FAO) และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ซึ่งผลการตรวจไวรัส จำนวน 6 ตระกูล และไวรัสเมอร์ส จากค้างคาว จำนวน 53 ตัวอย่าง ไม่พบค้างคาวติดเชื้อไวรัสเมอร์ส หรือไวรัสที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และค้างคาว พบเพียงการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า และไวรัส Paramyxovirus ที่พบได้ในค้างคาวทั่วไป
และอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้รับหนังสือสำเนาใบรายงานผลห้องปฏิบัติจุลชีววิทยา (เชื้อรา)ของศูนย์วิจัยทางการสัตวแพทย์ และสำเนารายงานผลการวิจัย จากห้องปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 13, 16, 19 พ.ย.2558 และลงวันที่ 1, 8, 9 ธ.ค.2558 แจ้งว่า ผลการตรวจจำนวน 35 ตัวอย่าง ตัวอย่างสัตว์ และดิน ไม่พบการเจริญของเชื้อ Geomyces destructans ที่อุณหภูมิ 10, 20 และ 28 องศาเซลเซียส ในอาหารเลี้ยงเชื้อ Sabouraud’s dextrose ager ผลการตรวจซากค้างคาวปรากฏผลเป็น Nagative ไม่พบเชื้อ
และผลการตรวจคุณภาพน้ำจากปากถ้ำ น้ำกลางถ้ำ และน้ำในถ้ำลึกสุด ปรากฏผลเป็น Nagative ไม่พบเชื้อแต่อย่างใด ซึ่งผลการตรวจสอบของทั้ง 3 หน่วยงาน เป็นไปตามที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณเคยคาดการณ์เอาไว้ หลังเกิดเหตุว่าสาเหตุการตายของค้างคาวทั้งหมดมาจากการขาดอากาศหายใจเนื่องจากจมน้ำ ดังนั้น อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จึงขอเรียนไปยังพี่น้องประชาชนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติเอราวัณแต่อย่างใด ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวยังคงมีความเชื่อมั่น และมั่นใจในการเข้าเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติเอราวัณ และถ้ำพระธาตุอยู่เสมอมา อีกทั้งที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากพื้นที่เกิดเหตุไปสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่แต่อย่างใด
ซึ่งอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ขอให้สื่อมวลชนได้ช่วยทำการประชาสัมพันธ์ ชี้แจง และทำความเข้าใจถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงของค้างคาวบริเวณถ้ำน้ำ ที่อยู่ด้านหลังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณที่ อว.1 (ถ้ำพระธาตุ) ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่คอยติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดอีกทางหนึ่งด้วย