กาญจนบุรี - ผลผ่าซากตัวอย่างค้างคาวหน้ายักษ์ตายในถ้ำน้ำเขต อช.เอราวัณ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ไม่พบตัวบ่งชี้ถึงการเกิดโรคอันเป็นสาเหตุของการตาย
จากกรณีค้างคาวหน้ายักษ์เสียชีวิตภายในถ้ำน้ำ พื้นที่หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ เหตุเกิดวันที่ 27 ต.ค.58 ที่ผ่านมา
ต่อมา นายยรรยง เลขาวิจิตร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน ดร.ประทีป ด้วงแด ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมคณะ และนายธรรมรัตน์ วงศ์โสภา ผอ.ส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายปรยุตม์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ อ.ดร.น.สพ.มาโนชญ์ ยินดี ผอ.โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ราชบุรี ต่างเดินทางลงพื้นที่เพื่อเก็บซาก และค้างคาวที่ยังมีชีวิต รวมทั้งตัวอย่างน้ำนำไปพิสูจน์ที่ห้องปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงาน
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (5 พ.ย.) นายยรรยง เลขาวิจิตร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า วันอังคารที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา อาจารย์ด็อกเตอร์นายสัตวแพทย์ (อ.ดร.น.สพ.) มาโนชญ์ ยินดี ผอ.โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ส่งเอกสารสรุปผลการผ่าซากมาแล้วว่า จากซากค้างคาวทั้ง 10 ตัวอย่างออกมาแล้วพบว่า ซากค้างคาวมีการเน่าอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งตัว โดยคาดว่าระยะเวลาที่เกิดการตายใกล้เคียงกัน ไม่พบวิการที่บ่งชี้ถึงการเกิดโรคอันเป็นสาเหตุของการตายที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังพบหนอน และแมลงขนาด 1.0-1.5 เซนติเมตร อาศัยอยู่ภายในซากของค้างคาว บ่งชี้ว่า การตายของค้างคาวเกิดขึ้นประมาณ 5-7 วันก่อนที่จะพบซาก ผลการสรุปดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า การตายของค้างคาวไม่ได้เกิดจากการระบาดของเชื้อโรคแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจคุณภาพน้ำของผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ราชบุรี ยังไม่มีผลสรุปออกมา คงต้องรออีกประมาณ 2-4 อาทิตย์
ด้าน อ.ดร.น.สพ.มาโนชญ์ ยินดี ผอ.โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลได้ส่งผลการผ่าซากของค้างคาว จำนวน 10 ตัวอย่างไปให้อุทยานแห่งขาติเอาราวัณตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนผลการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสโคโรน่าเมอรส์ หรือเชื้อโคโรน่าอื่นๆ ที่ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ทำร่วมกัน ขณะผลการตรวจในห้องปฏิบัติการยังไม่ออกมา โดยการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียต้องใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าเมอรส์ จะต้องใชเวลาประมาณ 4 อาทิตย์ โดยเริ่มเก็บมูลค้างคาวรวมกันหลายชนิด ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา หากผลการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส ออกมาจะรีบส่งผลสรุปให้แก่ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชทราบทันที
น.อ.ดร.น.สพ.มาโนชญ์ เปิดเผยต่อว่า นอกจาการนำซาก และมูลของค้างคาวไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุการตายของค้างคาวแล้ว ทีมสำรวจจากโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ทำการสำรวจลักษณะของถ้ำน้ำเพื่อหาสาเหตุการตายของค้างคาวภายในถ้ำอีกทางหนึ่งด้วย
โดยทีมสำรวจได้ทำการวัดระยะทาง ความสูง ความกว้าง และระดับน้ำภายในถ้ำ พบว่า ภายในถ้ำมีลักษณะเป็นทางน้ำไหลตั้งแต่ระดับข้อเท้าจนถึงจนถึงเอว ส่วนผนังถ้ำเป็นจำพวกหินงอกหินย้อย ซึ่งสุดทางของถ้ำพบว่า มีน้ำตก จำนวน 2 สาย รวมระยะตลอดการสำรวจโดยประมาณ 1 กิโลเมตร ความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อว่า การตายของค้างคาวน่าจะเกิดจากน้ำได้ไหลหลากเข้าท่วมถ้ำเมื่อวันที่ 21 ต.ค.แต่จะต้องรอผลสรุปการตรวจมูลค้างคาวออกมาอย่างเป็นทางการ จึงจะสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้
***ขอบคุณภาพจากอุทยานแห่งชาติเอราวัณ***