รมว.คลัง เผยมติ ครม. เห็นชอบคงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบ 7 ขั้นออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ตามที่เสนอฯ เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อมีผลบังคับใช้ในปี 60
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง ในการใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได 7 ขั้น จากเดิมต้องครบกำหนดในสิ้นปีนี้ ให้ขยายออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อมีผลบังคับใช้ในปี 60
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้สอดคล้องกับการคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบถาวรที่ร้อยละ 20 ไปก่อนหน้านี้ สำหรับการปรับโครงสร้างภาษใหม่ทั้งระบบจะให้สอดคล้องกับอัตราภาษีของประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของไทย
สำหรับอัตราภาษีแบบขั้นบันได 7 ขั้น ประกอบด้วย 1.รายได้สุทธิ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษีเหมือนเดิม ตามพระราชกฤษฎีกา 2.รายได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 10% เหลือ 5%, 3.รายได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท เสียภาษี 10% เหมือนเดิม, 4.รายได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 20% เหลือ 15% 5.รายได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20% ตามเดิม 6.รายได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 30% เหลือ 25% 7.รายได้สุทธิ 2,000,001-4,000,000 บาท เสียภาษี 30% ตามเดิม 8.รายได้สุทธิตั้งแต่ 4,000,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 37% เหลือเสียภาษี 35%
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 6 เดือน ในส่วนของรถไฟ-รถเมล์ฟรี จากเดิมจะสิ้นสุด 31 ตุลาคมนี้ ขยายเป็นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-30 เมษายน 2559 ยอมรับว่าการขยายเวลามาตรการดังกล่าว แม้รัฐสูญเสียรายได้ 2,013 ล้านบาท ถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพราะได้ช่วยเหลือมาต่อเนื่องหลายปีในการลดภาระคนมีรายได้น้อย