xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ชี้ ศก.ไทยส่อซบยาว แนะเร่งแก้ส่งออก-รับเงินทุนผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวิลด์แบงก์ ลดเป้าจีดีพีไทยปีนี้โต 2.5% ส่งออกรับผลกระทบจากตลาดโลก-จีนซบ ขณะที่ลงทุน-บริโภคเอกชนยังพึ่งไม่ได้ ขณะที่ปี 59 คาดโตแค่ 2% ไม่มั่นใจโครงการขนาดใหญ่เริ่ม ส่งออกยังเดี้ยงยาว แนะเร่งปฎิรูป ด้านไทยพาณิชย์ปรับลดประมาณจีดีพีเหลือ 2-2.5% ชี้เศรษฐกิจจีนชะลอกระทบไทยยาว เงินทุนยังผันผวน

นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบัน ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ 2558 ขยายตัวในอัตรา 2.5% จากปี 2557 ที่ขยายตัว 0.9% และลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.5% โดยกว่าครึ่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย และการส่งออกยังอ่อนแรงจากตลาดโลก และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของเงินทุนจะยังคงมีความผันผวน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการไหลออกของเงินทุนหากมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และการขยายตัวชองเศรษฐกิจไทยใน 2559 และ 2560 น่าจะยังคงซบเซาจากสภาวะเศรษฐกิจประเทศจีน และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ยังชะลอตัว ซึ่งหากการโครงการภาครัฐเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสามารถดำเนินได่อย่างทันท่วงทีในปีหน้า จะมีส่วนสำคัญส่งเสริมให้ทิศทางเศรษฐกิจสดใสมากยิ่งขึ้น โดยธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2559 ขยายตัวที่ 2.0% และปี 2560 ที่ 2.4%

“เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากต้องเผชิญต่อปัญหาด้านโครงสร้างของการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของจีดีพี ในขณะที่ความต้องการสินค้าของตลาดโลกก้าวไปสู่สายการผลิตที่ซับซ้อน และทันสมัยขึ้น และการปัญหาในเชิงโครงสร้างดังกล่าวไม่สามารถทำให้เสร็จสิ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถออกมาในปีนี้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ออกมาก็เป็นเพียงระยะสั้น จึงคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีหน้า และปีถัดไปยังคงเติบโตได้ไม่มากนัก”

ทั้งนี้ ประเทศไทยควรมีการเร่งปฏิรูปใน 3 ด้านด้วยกันเพื่อเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในอัตราสมศักยภาพ และยั่งยืน ได้แก่ ด้านการส่งออก เพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สินค้าส่งออกไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก รวมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เอื้อต่อการเปิดรับต่อระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากขึ้น และด้านการพัฒนาทักษะความรู้ของประชากรในประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

EIC SCB ลดเป้าจีดีพีโต 2.0-2.5%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB)ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.0-2.5% ในปี 2558 และ 2.5-3.0% ในปี 2559 ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการลงจากเดิม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างน้อยเนื่องจากภาคการส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอตัวลงของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง รวมถึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยส่งออกยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของจีนเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไปอีกหลายปี

ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะมาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว อุปสรรคในภาคการส่งออกทำให้ภาครัฐจะเข้ามีบทบาทมากขึ้น สำหรับปี 2559 การใช้จ่ายในประเทศน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการรายเล็กที่เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2558 นอกจากนี้ การเร่งสร้างความเชื่อมั่น และกำหนดทิศทางการส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งใน และนอกประเทศจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป

ด้านปัจจัยเสี่ยงในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นสิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ จุดชนวนทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน และตลาดทุน รวมถึงเกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้บางประเทศในแถบอาเซียนมีค่าเงินที่อ่อนลงอย่างมาก และยังต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศจนทำให้มีเหลือน้อยเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง

ดังนั้น ธุรกิจไทยจึงควรเฝ้าติดตามสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของคู่ค้า สำหรับไทย อีไอซีประเมินว่า การไหลออกของเงินทุน และการอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่รุนแรง และไม่เป็นอุปสรรคต่อการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น