SCB EIC คาด GDP ไทยปี 58 ขยายตัวได้ 2.0-2.5% และในปี 59 จะขยายตัวได้ 2.5-3.0% ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยว สำหรับปัจจัยเสี่ยงในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นสิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป ชี้ผลกระทบเฟดขึ้น ดบ.ในรอบ 10 ปี ส่งผลให้บางประเทศในแถบอาเซียนมีค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมาก และยังต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศจนทำให้มีเหลือน้อยเมื่อเทียบกับหน้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตในภาคการเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง พร้อมประเมินว่า การไหลออกของเงินทุนในไทย และการอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่รุนแรง
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวได้ 2.0-2.5% ก่อนมาขยายตัว 2.5-3.0% ในปี 2559 ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการลงจากเดิมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากภาคการส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอตัวลงของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง รวมถึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยส่งออกยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว
นอกจากนี้ การส่งออกไปยังประเทศแถบอาเซียนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และค่าเงินที่อ่อนค่า ภาวะดังกล่าวทำให้ครัวเรือนในภาคเกษตร และธุรกิจขนาดเล็กประสบปัญหาด้านรายได้ และยังทำให้ภาคธุรกิจโดยรวมชะลอการลงทุนออกไปเพราะขาดความเชื่อมั่น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของจีนเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไปอีกหลายปี
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค SCB EIC ระบุว่า แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะมาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยว อุปสรรคในภาคการส่งออกทำให้ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สำหรับปี 2559 การใช้จ่ายในประเทศน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการรายเล็กที่เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2558 ในด้านงบประมาณ รัฐบาลมีแผนดำเนินนโยบายการคลังที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 แสนล้านบาท จากเดิม 2.5 แสนล้านบาท โดยงบประมาณลงทุนในปีงบประมาณ 2559 จะเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ การเร่งสร้างความเชื่อมั่น และกำหนดทิศทางการส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งใน และนอกประเทศจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป นอกเหนือจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐแล้ว ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของไทยอีกครั้งในปี 2559 เพราะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10% และในส่วนของนักท่องเที่ยวจากจีนก็ไม่ได้ชะลอลงตามเศรษฐกิจ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นสิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จุดชนวนทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุน รวมถึงเกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่
กรณีดังกล่าวส่งผลให้บางประเทศในแถบอาเซียนมีค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมาก และยังต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศจนทำให้มีเหลือน้อยเมื่อเทียบกับหน้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตในภาคการเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น ธุรกิจไทยจึงควรเฝ้าติดตามสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของคู่ค้า
สำหรับประเทศไทย SCB EIC ประเมินว่า การไหลออกของเงินทุน และการอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่รุนแรง และไม่เป็นอุปสรรคต่อการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างแน่นอน