xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯชี้ Q3 ยังสำรองเพิ่ม-NPL ไม่นิ่ง-หวังมาตรการรัฐพยุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสิกรฯ เผยไตรมาส 3 ยังต้องกันสำรองเพิ่ม เอ็นพีแอลยังเพิ่ม แต่ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ หวังเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบช่วยพยุงได้ เตรียมทำแผนปีหน้า คาดจีดีพีโต 3.2% ขณะที่ค่าบาทอ่อนแตะ 36.50

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)กล่าวว่า ในไตรมาส 3 นี้ ธนาคารก็ยังต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มพิเศษเติมอยู่ จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งก็จะกระทบต่อผลการดำเนินงานของบ้างแต่ไม่มากนัก ส่วนการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ตามโครงการของรัฐนั้น ก็ได้เริ่มดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่มียอดที่ชัดเจน เนื่องจากเพิ่งเริ่มโครงการ

ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายหลังที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา และเริ่มมีเม็ดเงินออกจากมาบ้าง ก็คงจะช่วยทำให้สภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น แต่ในระยะยาวแล้วก็คงต้องรอเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป

“แม้เอ็นพีแอลจะยังไม่นิ่ง แต่ก็คาดว่าจะขยับเพิ่มเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งก็อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และเมื่อเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐแสนกว่าล้านทยอยออกมาก็คงจะทำให้ภาพโดยรวมดีขึ้น”

นายปรีดี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการทำแผนงานในปีหน้า ซึ่งก็คงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเช่นเดิม โดยอัตราการเติบโตของสินเชื่อก็จะสูงกว่าจีดีพี 1-1.5% จากในปีหน้าธนาคารประเมินจีดีพีโตที่ระดับ 3.2% สินเชื่อก็คงจะเติบโตได้ประมาณ 6-7% ใกล้เคียงกับปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง แม้ภาคการส่งออกจะยังติดลบ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว และเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบไปทั้งภูมิภาคและมีบางประเทศที่ได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะที่ประเทศไทยยังมีระดับเงินทุนสำรองที่สูงกว่าหนี้อยู่มาก ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังเกินดุล จึงไม่น่าห่วง

บาทอ่อนสุดรอบ 8 ปี

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (28 ก.ย.) เปิดตลาดที่ 36.46-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากปิดตลาดที่ 36.25-36.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเฟดส่งสัญญาณยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษก่อนสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และเงินบาทปิดตลาดที่ 36.42-36.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ 36.46-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ค่าเงินบาทที่ระดับ 36.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปี 7 เดือน (นับตั้งแต่ เดือน ก.พ. 2550) ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดหุ้น และตราสารหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น