รมว.คลัง เผยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เพื่อดำเนิน 6 มาตรการ เตรียมชง ครม. พิจารณา 4 ส.ค.นี้ ยอมรับ ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนลงแตะ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ชี้ ปัจจัยหลักเกิดจากมาตรการกระตุ้น ศก. ของสหรัฐฯ และสัญญาณการปรับขึ้น ดบ. ของเฟด ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เพื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจ ล่าสุด แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2588 และปี 2559 โดยระบุว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เพื่อดำเนิน 6 มาตรการ ประกอบด้วย
1.มาตรการด้านการเงินการคลัง 2.ส่งเสริมการลงทุนและเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 3.เร่งรัดปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนตามกรอบมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจปี 2558-2559 4.กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการที่มีงบประมาณประจำปี 5.กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมุนเวียน และ 6.การปรับปรุงบริหารจัดการสหกรณ์ที่มีอยู่
ทั้งนี้ จะมีการรายงานผลความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคให้นายกรัฐมนตรีทราบทุก 2 สัปดาห์ พร้อมเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 นี้ ถ้าทำได้ตามเป้าหมายจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3 ซึ่งคาดว่า จากมาตรการดังกล่าวจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 ได้อีกประมาณ 350,000 ล้านบาท รวมถึงทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 มีความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากมีแผนบริหารจัดการที่ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ รมว.คลัง ชี้แจงความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2558 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท ว่า เบิกจ่ายแล้ว 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนวงเงิน 449,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 23,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53
สำหรับกรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2558-2559 จะมุ่งขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภายในกรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.95 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินกู้ประมาณ 925,000 ล้านบาท รวมถึงส่งเสริมการลงทุนและมาตรการการเงินการคลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน วงเงิน 100,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มาตรการการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Soft Loan) และมาตรการด้านภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีแนวคิดยกเว้นภาษีอากรให้เอกชนที่นำเข้าเครื่องจักรช่วงปี 2558-2559
นอกจากนี้ ได้มีการสรุปแนวทางการช่วยเหลือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งของกองทุนหมุนเวียน ปีงบประมาณ 2558 โดยจะขยายเวลาการชำระหนี้ และ/หรือ งดการจัดเก็บดอกเบี้ย/ค่าปรับ พัฒนาแหล่งน้ำเดิมและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยการขุดเจาะบ่อบาดาล ลอกคูคลอง ขุดลอกทางน้ำชลประทาน และสนับสนุนแหล่งเงินทุน และ/หรือ ปัจจัยการผลิตด้านการเกษตร
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอมรับว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าถึง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาทมาก