xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” วอนทุกภาคส่วนร่วมมือฟื้น ศก. “คลัง” ประเมินแผนอัดฉีดแสนล้านหนุนจีดีพีโตเพิ่มอีก 1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” ขอให้ประชาชนมั่นใจ รบ.เร่งพัฒนา ศก.จากความต้องการที่แท้จริง เพื่อผลักดันให้เติบโตแบบยั่งยืน ชี้การร่วมมือกันอย่างจริงจังของทุกภาคส่วนสามารถผลักดันการฟื้นตัวทาง ศก. ของประเทศได้ “คลัง” ประเมินแผนเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบ กระตุ้นการก่อสร้างหนุนจีดีพีประเทศโตเพิ่ม 1% พร้อมเดินหน้าขอความชัดเจน รบ. เกี่ยวกับแผนการออกกฎหมายล้างหนี้ประเทศ 7.3 แสนล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยระบุว่า การร่วมมือกันอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะสามารถช่วยกันผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดขึ้นได้ โดยจะต้องเติบโตจากภายในประเทศไปสู่การค้าต่างประเทศ และการรวมตัวอย่างเข้มแข็งของประชาชน โดยมีภาคเอกชน และภาครัฐสนับสนุนจะเป็นการสร้างความพร้อมในการพัฒนาอย่างแท้จริง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ปล่อยไห้ภาครัฐ หรือนายกรัฐมนตรีต้องแบกรับภาระในการแก้ไขปัญหาของประเทศเพียงลำพัง

ทั้งนี้ ตนมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มาจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จะสามารถทำให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็งได้ และโดยส่วนตัวขอให้มั่นใจ และไว้ใจว่าตนเองจะทำเพื่อประโยชน์ของทุกคนจนกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ที่มี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และประเมินว่า จะมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้น และการเร่งลงทุนที่รัฐบาลเร่งทยอยออกมาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากปัจจุบันไปถึงปีหน้า คิดเป็นวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท และจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มประมาณ 1%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวคิดเป็นการขยายเพิ่มขึ้นในปีนี้ราว 0.4% และคาดว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในปี 2558 ขยายตัวได้ถึง 3% และเป็นเม็ดเงินที่ทำให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าทั้งปีจะขยายตัวได้ 4%

“มาตรการกระตุ้น และการเร่งลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมมีเม็ดเงินมากกว่า 1.3 แสนล้านบาท แต่เป็นเรื่องปกติที่การใช้เม็ดเงินบางส่วนไม่เต็มวงเงินที่ตั้งไว้ และการลงทุนบางโครงการยังล่าช้าจะดำเนินการได้หลังปี 2559”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นายอภิศักดิ์ ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งลงทุนโครงการต่างๆ โดยในส่วนของโครงการที่ดำเนินการใหม่ให้พยายามใช้วิธีการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เพื่อลดการใช้เงินกู้ ซึ่งที่ผ่านมา หนี้ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ระวังเรื่องการก่อหนี้ให้มาก เพราะไม่อยากให้มาวิจารณ์ภายหลังว่าเป็นรัฐบาลที่สร้างภาระหนี้จำนวนมากแก่ประเทศ

สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลเป็นกังวลเรื่องนี้สาธารณะมาก ส่วนหนึ่งมาจากการพิจารณาแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2558 ซึ่งมีภาระที่ต้องกู้เงินสูงถึง 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการกู้ใหม่เพื่อชดเชยการขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการกู้เพื่อบริหารหนี้เก่า ทำให้นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องหนี้ของประเทศที่จะสูงขึ้นในอนาคต

“กระทรวงการคลังเตรียมขอความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายการออก พ.ร.บ. เพื่อให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบริหารจัดการหนี้วงเงิน 7.3 แสนล้านบาท โดยจะชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็น และประโยชน์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ จะทำให้การบริหารหนี้จำนำข้าวกว่า 5 แสนล้านบาท มีความชัดเจนเป็นที่น่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในการดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลัง เพราะจะสามารถใช้หนี้ทั้งหมดได้ภายใน 20 ปี”

นอกจากนี้ การกู้เงินดังกล่าวจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท จะนำไปใช้หนี้ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งจะทำให้งบการเงินของรัฐวิสาหกิจกลับมาดูดี และแข็งแรง สามารถกู้เงินด้วยตัวเองไม่เป็นภาระต่อรัฐบาลอีกต่อไป

ขณะที่เงินกู้อีกส่วนหนึ่งประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ทางสำนักงบประมาณจะนำไปใช้หนี้ให้กองทุนประกันสังคม หากไม่ออกกฎหมายพิเศษมาบริหารหนี้ก็จะทำให้รัฐบาลยังต้องติดหนี้กองทุนประกันสังคมต่อไป ซึ่งทำให้กองทุนประกันสังคมเสียประโยชน์จากการหาผลประโยชน์จากเงินดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น