“ตลาดเงิน-ตลาดทุน” จับตาประกาศจีดีพีของ ธปท. และสหรัฐฯ รวมถึงผลการเลือกตั้งกรีซ พร้อมกับเกาะติดสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงสั้น
การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผานมา เงินบาทแข็งค่ากลับมาทดสอบระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในกรอบร้อยละ 0.00-0.25 พร้อมกับมุมมองระมัดระวังมากขึ้นต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจ และตลาดการเงินโลก ทำให้ตลาดยังคงต้องรอสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบไป และการฟื้นตัวขึ้นของตลาดการเงินในภูมิภาคในช่วงท้ายสัปดาห์ ยังเป็นปัจจัยหนุนเงินบาทด้วยเช่นกัน ปิดตลาดในวันศุกร์ (18 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ก.ย.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.30-35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยต้องติดตาม ประกอบด้วย ผลการเลือกตั้งของกรีซ (20 ก.ย.) ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่/บ้านใหม่มือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. และตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 2/58 นอกจากนี้ ตลาดในประเทศอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่การเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ในรายงานนโยบายการเงินของ ธปท. (25 ก.ย.) ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,390.32 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.62 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงร้อยละ 4.93 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 35,579.35 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 586.65 จุด ลดลงร้อยละ 0.43 จากสัปดาห์ก่อน ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายของนักลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการประชุมเฟด และ กนง. ก่อนที่ตลาดจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ จากคาดการณ์ก่อนการประชุม FOMC เดือน ก.ย. ได้เลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยทรงตัวในวันศุกร์ หลังจากที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวต้านที่ 1,400 และ 1,420 จุด ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 1,380 จุด และ 1,365 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญต้องติดตาม คงได้แก่ ผลการเลือกตั้งของกรีซ และข้อมูลการส่งออกของไทย รวมทั้งสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิต ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน จีดีพีประจำไตรมาส 2/58 (Final Est) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการรายงานข้อมูล PMI ของจีน