xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนอย่างไร หลัง FED ปูทางขึ้นดอกเบี้ยปลายปี 58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

สวัสดีครับ ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ผ่านมาครั้งล่าสุดวันที่ 17-18 มี.ค. 58 ตลาดให้ความสนใจและจับตากันค่อนข้างมาก เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะมีโอกาสตัดข้อความคำว่า “Patient” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณกับตลาดการเงินว่าจะ “อดทน” ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ออกไป หลังตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนการประชุม

แต่อย่างไรก็ดี ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 18 มี.ค. 58 กลับสร้างความประหลาดใจให้แก่นักลงทุน โดยตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากลับปรับตัวบวกขึ้น แม้ว่าการประชุมจะมีการตัดข้อความคำว่า “Patient” ออกตามที่ตลาดคาดการณ์ก็ตาม แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงส่งสัญญาณการไม่เร่งรีบในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก

โดยมีการขยายความในการพิจารณามากขึ้น โดยมีการใช้คำว่า “Data Dependent” ในถ้อยแถลงดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงการพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะตัวเลขตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นหลัก ทำให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลกับการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว

สำหรับมุมมองของผม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เฟดพิจารณาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วแค่ไหนและมากน้อยเพียงไรนั้น คงต้องให้น้ำหนักกับเรื่องของการพิจารณาของทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวควบคู่กันไป โดยหากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันยังคงต่ำเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2.0% รวมทั้งในระยะสั้นคาดว่าอัตราเงินเฟ้อยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง

ขณะที่ระยะกลางยังถูกกดดันจากค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวของตลาด (10-year Breakeven Inflation Rate) ที่เริ่มปรับลดมุมมองเงินเฟ้อในระยะยาวลง ทำให้คาดว่าเฟดอาจต้องระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป

ขณะที่ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสที่ 1/58 เองก็น่าจะมีโอกาสชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศหลังเผชิญกับพายุหิมะ รวมทั้งตลาดแรงงานที่อาจสะท้อนการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งมากสุดในช่วงนี้ แต่ก็มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะตัดสินได้ในช่วงเวลานี้

ทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกช่วงเวลาหนึ่งเพื่อรอดูให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพที่แท้จริงในทุกๆ ด้าน มากกว่าที่จะเร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจต้องกลับมาเผชิญกับความเปราะบางอีกครั้ง โดยผมมองว่าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วนั้น น่าจะเป็นช่วงการประชุมในเดือน ก.ย. ถึง ต.ค. 58 เป็นอย่างเร็ว

และจากถ้อยแถลงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ กนง.ไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของธนาคารกลางหลักต่างๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยูโรโซนด้วยเม็ดเงินมหาศาล จะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้น

สำหรับตลาดหุ้นไทย ผมมองว่ายังคงเป็นที่น่าสนใจอยู่ เนื่องจากมองว่ายังมีสภาพคล่องที่น่าจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยจากการคลายความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และการผ่อนคลายนโยบายการเงินของหลายธนาคารกลาง ประกอบกับปัจจุบันสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา

ทำให้แรงขายของนักลงทุนต่างชาติน่าจะจำกัดมากขึ้น และน่าจะมีเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ไทยได้บ้าง แต่เงินทุนต่างชาติจะมากน้อยเพียงไรนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับการเร่งสร้างความเชื่อมั่นของทางการไทยว่าจะสามารถดึงความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติได้มากน้อยอย่างไร ขณะที่ความคืบหน้าของแผนการประมูล 4G ซึ่งน่าจะสามารถดำเนินการได้ในสิ้นปีนี้ และการเริ่มผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากทำได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วนั้น

เมื่อประกอบกับมูลค่าหุ้นไทยในปัจจุบันที่เริ่มต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชียและกลุ่ม TIP Region ก็น่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนได้ และน่าจะผลักดันให้ SET Index มีโอกาสปรับตัวทดสอบระดับ 1,700 จุดได้ในช่วงกลางปี 2558 ซึ่งทำให้ผมมองว่าช่วงที่ดัชนีฯ ต่ำกว่า 1,550 จุดในช่วงนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉพาะกองทุนรวมประเภทลดหย่อนภาษีอย่างเช่น RMF / LTF และ 1AMSET50 เพื่อทยอยสะสมหุ้นในช่วงที่หุ้นไทยปรับลดลง

ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้นั้น ในช่วงระยะข้างหน้าตลาดตราสารหนี้อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันของความกังวลในเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยมีโอกาสอยู่ในระดับทรงตัวที่ 1.75% ตลอดสิ้นปีนี้ ทำให้ราคาพันธบัตรอาจได้รับความผันผวนได้ ดังนั้นหากนักลงทุนสนใจลงทุนจึงแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นถึงกลางมากกว่าระยะยาว และหากนักลงทุนที่มีสภาพคล่องเพียงพอ ผมแนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ประเภท Term Fund ซึ่งให้โอกาสผลตอบแทนที่แน่นอนกว่า ซึ่งจะเป็นการช่วยลดทอนความผันผวนดังกล่าวได้ครับ


•หากนักลงทุนสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1

•ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น