ASTVผู้จัดการ - ลูกหนี้แบงก์อิสลาม พาพนักงานกว่า 80 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ ร้องให้สอบสวนพฤติกรรมผู้บริหารแบงก์ หลังถูกกลั่นแกล้งทำให้เป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระ แฉใบเสร็จเจ้าหน้าที่ลงวันที่ผิดไป 8 เดือน ส่งผลเสียหายต่อบริษัทหลังให้นายทุนเข้าฮุบกิจการ
ที่ศูนย์บริการประชาชน (ฝั่ง ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (8 ก.ย.) นายยุทธพงษ์ พุ่มรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีอาร์พี เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์เทรดดิ้ง จำกัด พร้อมด้วยพนักงาน จำนวน 80 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ แต่ถูกธนาคารกลั่นแกล้งให้กลายเป็นลูกหนี้ตกชั้น โดยเรียกร้องให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง และดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง มี นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงษ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชวนเป็นผู้รับเรื่อง
นายยุทธพงษ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารออกใบเสร็จรับเงินไม่ถูกต้องตามความจริง โดยระบุวันเดือนปีที่ครบกำหนดย้อนหลังไป 8 เดือน นับจากวันเดือนปีธนาคารได้รับชำระจริง ส่งผลให้บุคคลที่ 3 คือ คณะกรรมการธนาคาร หรือผู้ที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงเมื่อได้เห็นใบเสร็จที่ออกไม่ถูกต้องทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบริษัทได้ค้างชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 8 เดือน จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย อันเป็นการร่วมกัน และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารได้พยายามกลั่นแกล้งเพื่อให้บริษัทกลายเป็นลูกหนี้ตกชั้น โดยทางธนาคารอิสลามได้ทำหนังสือทวงถามถึงการชำระหนี้ จำนวน 17,654,106.58 บาท ซึ่งทางบริษัทได้นำเงิน จำนวน 14,000,000 บาท เพื่อตัดชำระหนี้ถึง 2 ครั้ง และได้ทำหนังสือชำระหนี้ในวงเงินต่างๆ อีก 5 ฉบับ พร้อมทั้งแนบแคชเชียร์ส่งจ่ายให้แก่ธนาคารด้วย แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทมีเจตนาชำระหนี้ และไม่ได้อยากเป็นเป็นลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ต่อธนาคาร แต่ทางธนาคารกลับหวังให้บริษัทเกิดความเสียหายโดยต้องการที่จะหานายทุนเข้ามาฮุบกิจการของบริษัท
“ขอให้พิจารณา และสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามที่ร้องเรียน และขอให้มีคำสั่งให้ธนาคารอิสลาม ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัท โดยให้ตัดเงื่อนไขที่ขัดต่อกฎหมายที่ไม่ถูกหลักธรรมาภิบาลออกไปด้วย” นายยุทธพงษ์ กล่าว
บริษัท วีอาร์พี เป็นผู้ดำเนินธุรกิจงานด้านยานยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติและสถานีเติมก๊าซ, วิศวกรรมก่อสร้าง วางระบบพลังงานน้ำมันและแก๊ส, ขนส่ง, การทดสอบโดยไม่ทำลาย, ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า, ประกันภัยรถยนต์ ด้วยทุนจดทะเบียนทั้งกลุ่ม 200 ล้านบาท ดำเนินกิจการให้แก่คู่ค้าสำคัญ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), IRPC, Viny Thai, ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า/นิสสัน/มิตซูบิชิ, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง, กระทรวงพลังงาน, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากร
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ “ASTVผู้จัดการ” ได้นำเสนอ “เปิดเบื้องหลังหนี้เสียแบงก์อิสลามพุ่ง” โดย ณ ปัจจุบัน ไอแบงก์กำลังประสบปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จากปี 2554 ที่มีแค่ 8% เพิ่มขึ้นเป็น 49% (ก.ค.2558) ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เท่ากับติดลบถึง 22%
โดยเป็นผลมาจากนโยบายระงับการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกัน การแก้หนี้ (TDR) เป็นในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อลูกค้าบางราย แต่ทำให้ธนาคารเสียหาย เช่น ธนาคารเกิดส่วนสูญเสีย (PV loss) โดยที่ลูกค้ามิได้มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือผ่อนปรนเงื่อนไข เช่น พักเงินต้น และให้ผ่อนแต่อัตรากำไรในอัตราต่ำๆ เพื่อให้ดูเหมือนว่าแก้ไขหนี้ได้ แต่ในอนาคตลูกค้าเหล่านี้ก็จะกลับมาตกชั้นอยู่ดี (re-entry)
นอกจากนี้ ยังมีข้อครหาในการดูแลลูกค้ารายใหญ่โดยธนาคารกำหนดให้มีหน่วยงานที่สามเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพรรคพวกของผู้บริหาร และเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าในอัตราที่สูง ทำให้ลูกค้าเดือดร้อน และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเอาเงินจำนวนนั้นมาชำระหนี้ธนาคาร