xs
xsm
sm
md
lg

จีนคิดค้น “ถุงยาง” ใหม่ ช่วยการขุดเจาะน้ำมันและแก๊สในทะเลจีนใต้ เดินหน้าฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สารเคมีที่เพิ่งถูกคิดค้นนี้ จะถูกนำมาใช้ในแท่นขุดเจาะน้ำมันไห่หยางฉือโหยว 981 (Haiyang Shiyou 981) ซึ่งเป็นแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของจีน เพื่อแทนที่สารเคมีราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ (ภาพเอพี)
เอเจนซี--นักวิทยาศาสตร์จีนประสบความคืบหน้าก้าวใหญ่ในการส่งเสริมการขุดเจาะน้ำมันในทะเลจีนใต้

สื่อจีนรายงาน (3 ส.ค.) นักวิจัยของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) ได้พัฒนาอุปกรณ์ทำจากพลาสติก ที่เป็น “ถุงยาง”  สำหรับการขุดค้น ทะลวงลงไปยังใต้ทะเลนับพันๆเมตรฉลุย โดยที่ไม่ประสบอุปสรรคจากเครื่องมืออุปกรณ์เสียหายระหว่างการทำงานในบริเวณใต้ท้องทะเลลึก

ศาสตราจารย์หลิว จื้อหง หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการวิจัยฯ ระบุว่า ยิ่งแท่นขุดเจาะน้ำมันและแก๊สทะลวงลึกลงไปใต้ทะเลที่อุณหภูมิลดลงจนใกล้จุดเยือกแข็งมาก เมื่อหินตะกอนทำปฏิกริยากับหัวเจาะในน้ำอุณหภูมิต่ำ ก็จะกลายเป็นโคลนเหนียวหนืด ซึ่งทำให้แท่งขุดเจาะเสียหายจนทำงานต่อไม่ได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนของหลิว ได้พัฒนาอุปกรณ์ชนิดใหม่จากสารเคมีโพลิเมอร์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สารเคมีโพลิเมอร์นี้จะถูกผสมลงไปในน้ำโคลน  (Drilling fluid) ซึ่งเป็นวัสดุหล่อลื่นในหัวเจาะ และป้องกันเศษดินหินคลุกกับน้ำ ลดความเหนียวหนืด ปราการป้องกันนี้จะก่อตัวรอบหัวเจาะ ลดการแตกหักได้มากกว่า 80 เปอร์เซนต์

จีนไม่ใช่ประเทศแรกที่ประสบปัญหาการขุดน้ำมันในระดับลึกดังกล่าว มีบริษัทจำนวนมากทั่วโลกได้คิดค้นสารเคมีเพื่อแก้ปัญหา จีนเองก็ได้นำเข้าสารเคมีดังกล่าวจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการขุดเจาะมานานแล้ว

ไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แพง และปัญหาการเมืองจากความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเอเชียในกรณีอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ที่เชื่อกันว่าอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำมันและแก๊ส  ทำให้จีนหันมาพัฒนาสารเคมีที่ใช้สำหรับการขุดเจาะน้ำมันเอง

ทั้งนี้ สารเคมีสำหรับอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมันและแก๊สที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงลิบลิ่วถึงตันละ 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 3,504,000 บาท ซึ่งโดยปกติแล้ว ปฎิบัติการขุดเจาะจำเป็นต้องใช้สารเคมีมากถึง 200 ตัน

“วัตถุดิบที่เราพัฒนาขึ้นเองนี้ มีราคาถูกกว่าวัตถุดิบที่ใช้ในปัจจุบัน ครึ่งหนึ่ง” หลิวกล่าว

สารเคมีที่จีนคิดค้นใหม่นี้ ได้ถูกนำไปทดลองที่สถานีขุดเจาะน้ำมันและแก๊สแล้วราว 20 แห่ง และจะถูกนำมาใช้ในแท่นขุดเจาะน้ำมันไห่หยางฉือโหยว 981 (Haiyang Shiyou 981) ซึ่งเป็นแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของจีน

กำลังโหลดความคิดเห็น