สบน. เผยหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย.58 อยู่ที่ระดับ 42.36% ของจีดีพี เตรียมปรับแผนบริหารจัดการหนี้ปี 58 และแผนบริหารหนี้ปี 59 ภายในเดือน ส.ค.นี้ ครวญการปรับลดค่าเงินหยวนของจีนอย่างรุนแรงกระทบการตัดสินใจกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้บริหารความเสี่ยงยาก โดยเฉพาะโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ เล็งหันกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ
นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 มีจำนวน 5,684,490.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.36 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ภาพรวมหนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 2,516.86 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง และกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอปรับแผนบริหารจัดการหนี้ปี 2558 และแผนบริหารหนี้ปี 2559 ภายในสิงหาคมนี้ โดยในส่วนของปี 2558 จะมีการปรับลดการกู้เงิน 125,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามกรอบเวลา จึงโอนไปเป็นปีหน้า รวมถึงยังมีรัฐวิสาหกิจบางส่วนที่ยังมีการปรับลดวงเงินลงอีก 20,000 ล้านบาท
สำหรับแผนในการบริหารจัดการหนี้ ปี 2559 จะมีกรอบวงเงิน 1.72 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นการก่อหนี้ใหม่ 638,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นการกู้เงินเพื่อขาดดุลงบประมาณ 390,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เงินในโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ 125,000 ล้านบาท รวมทั้งเป็นการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้ในการลงทุนอีก 123,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในจำนวนแผนการกู้เงินใหม่ทั้งหมด 638,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการกู้เงินในประเทศ เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศขณะนี้เอื้ออำนวย และการกู้เงินสกุลเงินตราต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน จึงกำหนดกรอบการกู้ต่างประเทศไว้เพียงแค่ 60,000 ล้านบาท และสามารถปรับลดลงได้หากมีความเหมาะสม
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังได้ทำประมาณการหนี้สาธารณะที่เกิดจากการลงทุน และก่อหนี้ในอีก 5 ปี ข้างหน้า โดยมีสมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ร้อยละ 4 จะทำให้หนี้สาธารณะปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 45 ปี 2559 ร้อยละ 48 ปี 2560 ร้อยละ 51 ปี 2561 ร้อยละ 52 ปี 2562 ร้อยละ 53 ปี 2563 ร้อยละ 52 แต่ทั้งหมดยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไม่ให้เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี ซึ่งถือว่าฐานะทางการคลังไม่มีความเสี่ยง
สำหรับการลดค่าเงินหยวนลงอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการกู้เงินของไทยในโครงการพัฒนารถไฟทางคู่บ้าง โดยมองว่า ค่าเงินหยวนบริหารความเสี่ยงยาก แม้ว่าทางการจีนจะเสนอการกู้เงินแบบค่าเงินยวน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากสถานการณ์เงินหยวนเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยคงจำเป็นต้องเลือกการกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากบริหารจัดการได้มากกว่า