xs
xsm
sm
md
lg

“ทิสโก้” แนะช่วงจังหวะตลาดหุ้นไทยผันผวน โยกเงินลงทุนตลาดหุ้นนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ทิสโก้” แนะจังหวะตลาดหุ้นผันผวนโยกเงินลงทุนตลาดหุ้นนอก ชี้ “จีน-เยอรมนี-ญี่ปุ่น” โดดเด่น มั่นใจทั้ง 3 ตลาดฟื้นตัวดี

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Strategy, Economic Strategy Unit, TISCO Financial Group Plc). เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนในครึ่งหลังของปี 2558 ทิสโก้ยังคงให้น้ำหนักต่อการกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เพราะมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ที่ยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยตลาดที่แนะนำให้เน้นลงทุน คือ จีน เยอรมนี และญี่ปุ่น

โดยตลาดหุ้นจีน ยังคงแนะนำ Overweight ในตลาดหุ้นจีน H-Share เนื่องจาก Valuation ที่ยังถูก โดย Valuation กลับมาซื้อขายที่กรอบล่างของการซื้อขายในอดีตอีกครั้ง โดยค่า P/E ปัจจุบันอยู่ที่ 8 เท่า ใกล้เคียงกับระดับ -1 S.D.และ PBV ที่ 1 เท่า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงความคืบหน้าของการปฏิรูปที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่อง และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาตั้งแต่ต้นปีจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนผ่านจุดต่ำในไตรมาส 2 และฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และเชื่อว่าจีนยังมีเครื่องมือทางนโยบายที่จะสามารถกระตุ้น เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เช่น การจัดการหนี้ในภาคธนาคารเงา การเปิดเสรีทางการเงิน การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรเงินทุนผ่านกลไกตลาด และกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือนผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และการลดเงินดาวน์ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อชดเชยการชะลอตัวของภาคการลงทุน จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้เศรษฐกิจจีนในระยะยาว

ขณะที่การปรับตัวลดลงของหุ้นจีน A-share ไม่ได้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นฐานเศรษฐกิจ แต่เกิดจากการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อย และการใช้วงเงินกู้มาร์จิ้นในระดับสูง และเชื่อว่ามาตรการของทางการจีนมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะพยุงตลาดหุ้นได้ นอกจากนี้ ผลกระทบของความผันผวนของตลาดหุ้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงจะมีจำกัด เนื่องจากจำนวนผู้มีบัญชีซื้อขายหุ้นในจีนมีจำนวนเพียง 55 ล้านบัญชี ซึ่งนับเป็นเพียง 4% เมื่อเทียบกับประชากรจีนจำนวน 1,340 ล้านคน และสินทรัพย์ของครัวเรือนจีนส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย คิดเป็น 41% และมีเพียง 8% ที่เป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น การฟื้นตัวของราคาบ้านในเขตเมืองใหญ่ (Tier-1 Cities) ซึ่งเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือน ก.พ. น่าจะช่วยชดเชยผลกระทบของการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นต่อความมั่งคงรวมของครัวเรือนจีนได้ส่วนหนึ่ง และการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นนั้นไม่ได้เป็นช่องทางการระดมทุนหลักของบริษัทจีน โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา การระดมทุนผ่านตลาดหุ้นคิดเป็นเพียง 4% ของการระดมทุนรวม (Total Social Financing : TSF) โดยแหล่งเงินทุนหลักของบริษัทจีนนั้นยังคงเป็นการขอสินเชื่อจากภาคธนาคาร ที่คิดเป็นถึง 70% ของการระดมทุนรวม

ด้านตลาดหุ้นเยอรมนี ดัชนี DAX ยังมี Discount จาก STOXX600 อยู่ราว 15% (วัดจาก forward P/E) ในขณะที่การเติบโตของกำไรสูงกว่า (10% vs 8%) รวมถึงการส่งออก (นับเป็น 40% ของ GDP) ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้การค้าโลกชะลอตัว และแนวโน้มการแข็งค่าของดอลลาร์ (และอ่อนค่าของยูโร) ช่วยสนับสนุนผลกำไรของบริษัทส่งออก

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีความน่าสนใจอยู่ที่ระดับ Valuation ดูน่าสนใจที่สุด เนื่องจากตลาดหุ้นยังซื้อขายกันที่ P/E ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต (+0.2 S.D.) ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดการณ์การเติบโตของกำไรสูง (15.5% ในปี 2015) โดยนักวิเคราะห์มีการปรับเพิ่มประมาณการผลกำไรขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการรายงานผลประกอบการของบริษัทที่ดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มการจ่ายปันผล และการซื้อหุ้นคืนที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้นักลงทุน และสนับสนุนการขยายตัวของ ROE

นายคมศร กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งทิสโก้ ประเมินว่า เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ในเดือนกันยายน หรือธันวาคม ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากที่ลดดอกเบี้ยลงไปที่ระดับ 0% มาเป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นทำให้เฟดไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% อีกต่อไป และคาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเนื่องจากเงินเฟ้อยังต่ำ จากราคา Commodities และดอลลาร์แข็ง โดยมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่น เยอรมนี และจีนจะได้ผลกระทบน้อย และมี Upside ค่อนข้างมากซึ่งเป็นโอกาสลงทุนในครึ่งปีหลัง

ภาพรวมธุรกิจกองทุนในครึ่งปีแรก และกองทุนที่แนะนำในครึ่งปีหลัง

ด้าน นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (บลจ.ทิสโก้) (Mr.Saharat Chudsuwan, Head of Marketing and Wealth Advisory, Mutual & Private Fund Business, TISCO Asset Management Co.,Ltd.) กล่าวว่า ทิสโก้นับเป็นรายแรกๆ ในตลาดที่ได้แนะนำให้นักลงทุนได้กระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเต็มไปด้วยความผันผวน ทั้งนี้ ตลาดต่างประเทศที่ได้แนะนำ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนมาตอบโจทย์ได้ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ก็สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับภาพรวมในครึ่งปีแรกของปีนี้ ทิสโก้ ยังมุ่งออกกองทุนต่างประเทศโดยกระจายการลงทุนไปในภูมิภาคต่างๆ ที่มีศักยภาพอย่างครอบคลุม ทั้งแบบประเภทกองทุนเปิด กองทุนประเภท สตาร์ พลัส (Star Plus Fund) และกองทุนประเภททริกเกอร์ ฟันด์ (Trigger Fund)

“กองทุนที่โดดเด่นในครึ่งปีแรกของเรา คือ กองทุนประเภททริกเกอร์ ฟันด์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้การจับจังหวะตลาดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ผ่านมา เราออกทริกเกอร์ ฟันด์ครอบคลุมตลาดหุ้นในหลายภูมิภาค เช่น กองทริกเกอร์หุ้นจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เอเชียเหนือ อินเดีย รวมถึงหุ้นไทยหากมีจังหวะที่น่าลงทุน ไปถึงการลงทุนทางเลือกอย่าง กองทริกเกอร์น้ำมัน ซึ่งทุกกองที่เราออกล้วนได้รับการตอบรับที่ดี โดยตั้งแต่ปี 2557-2558 ทิสโก้ออกทริกเกอร์ ฟันด์แล้วจำนวน 43 กองทุน โดยครบกำหนดอายุกองทุนแล้ว 30 กอง และอยู่ระหว่างลงทุน 13 กองทุน โดยในจำนวนกองที่ครบกำหนดอายุ ถึงเป้าหมายทั้งสิ้น 25 กอง และเปลี่ยนเป็นกองทุนเปิดให้ซื้อขายทุกวันทำการ 5 กองทุน ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์การเป็นผู้นำลงทุนของทิสโก้ได้เป็นอย่างดี (หมายเหตุ : ณ วันที่ 2 สิงหาคม บลจ.ทิสโก้ สามารถบริหารกองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ ถึงเป้าหมายเลิกโครงการแล้ว 65 กอง จากจำนวนกองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ภายใต้การจัดการทั้งหมด 101 กอง)”

อีกประเภทกองทุนที่ได้รับการตอบรับที่ดี คือ กองทุนประเภทสตาร์พลัส ซึ่งเป็นกองทุนที่ช่วยนักลงทุนคัดเลือกกองทุนที่ดีที่สุดในแต่ละประเทศ หรือแต่ละเซกเตอร์ โดยเลือกผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดในตลาดนั้นๆ มารวมตัวกัน โดยถ้ารายไหนไม่สร้างผลงานก็สามารถเปลี่ยนออกได้ เหลือไว้แต่กองทุนที่มีผลงานดีเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน โดยปัจจุบันกองประเภทสตาร์พลัสที่เรามี คือ โกลบอล สตาร์ พลัส ลงทุนในหุ้นโลก, เฮลธ์แคร์ สตาร์ พลัส ลงทุนในหุ้นเฮลธ์แคร์โลก และ ไชน่า สตาร์ พลัส ลงทุนในหุ้นจีน ซึ่งทุกกองเราล้วนคัดสรรมาจากผู้จัดการกองทุนระดับโลก

นายสาห์รัช กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการออกกองทุนในรอบปีที่ผ่านมา มาจากทีมงานคุณภาพซึ่งทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ และกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ที่วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ และกำหนดกลยุทธ์การลงทุนว่าสินทรัพย์ตัวไหน และตลาดใดมีความน่าสนใจ และผู้จัดการกองทุนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับต่อกลยุทธ์การลงทุนดังกล่าว ตลอดจนมีทีมที่ปรึกษาการลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ลูกค้า

ทั้งนี้ สำหรับกองทุนที่ บลจ.ทิสโก้ แนะนำในครึ่งปีหลังยังคงเน้นที่กองทุนหุ้นต่างประเทศในภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีศักยภาพ ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เยอรมนี และจีน โดยแนะนำ “กองทุนเปิด ทิสโก้ เจแปน อิควิตี้”, “กองทุนเปิด ทิสโก้ เยอรมัน อิควิตี้” และ “กองทุนเปิด ทิสโก้ ไชน่า H-Shares อิควิตี้” รวมถึงแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นโลกในเซกเตอร์ที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ หุ้นในกลุ่มเฮลธ์แคร์ โดยแนะนำ “กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล เฮลธ์แคร์ สตาร์ พลัส” ส่วนนักลงทุนที่ยังสนใจหุ้นไทย แนะนำให้เลือกลงทุนแบบ Selective โดยแนะนำ “กองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้” ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นขนาดกลาง และเล็ก

“ธีมหลักในการออกกองทุนในช่วงครึ่งหลังของปีเรายังเน้นนโยบายการลงทุนในตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน รวมถึงเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน แต่จะมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะจะมีทั้งกองทุนที่เป็นกองทุนเปิดที่ซื้อขายได้ทุกวันทำการ กองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ ที่กำหนดเป้าหมายการลงทุนอย่างชัดเจน รวมไปถึงกองทุนประหยัดภาษีอย่าง RMF มาช่วยตอบโจทย์ได้อย่างครบถ้วน และมั่นใจว่ากองทุนของ บลจ.ทิสโก้ จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุนดังเช่นที่ผ่านมา เพราะผลงานการบริหารกองทุนที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนในตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดี” นายสาห์รัช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น