ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% เนื่องจาก ศก.มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมหั่นเป้าจีดีพีลงต่ำกว่า 3% และส่งออกติดลบกว่า 1.5% พร้อมระบุเงินบาทอ่อนค่าช่วย ศก.ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนเงินเฟ้อที่ติดลบ เชื่อจะปรับขึ้นเป็นบวกปลายปีนี้
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 และทั้งปีมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการประชุม กนง.ครั้งนี้ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงต่ำกว่าร้อยละ 3 และการส่งออกหดตัวมากกว่าร้อยละ 1.5 โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 25 กันยายน 2558 นี้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง และการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน และเอเชีย ดังนั้น จึงเห็นควรให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อไป แต่ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงกว่าคาด และการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่อยู่ในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเห็นว่านโยบายอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องติดตามภาวะดอกเบี้ยต่ำอาจจะมีการไปหาผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงและสูงกว่า ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินระยะต่อไป
ส่วน กนง.จะมีการใช้มาตรการเสริมนอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น กนง. มีการพิจารณาอย่างต่อเนื่องโดยมีเครื่องมือหลายด้านที่พร้อมจะดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ขณะเดียวกัน จะติดตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาด แต่ทาง ธปท.เชื่อว่าความผันผวนจะมีไม่มาก และจะจัดการได้
ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องยังเชื่อว่าจะปรับตัวเป็นบวกในช่วงปลายไตรมาส 4 ปีนี้ แต่อาจจะเลื่อนระยะเวลาออกไป เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเงินเฟ้อทั้งปีติดลบ แม้ว่าเงินเฟ้อจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วก็ตาม