xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยทองคำ คาด กนง.คุมค่าเงินบาทอ่อนตัว เสริมแรงอุตฯ ส่งออก ประเมินราคาทองคำโลกแตะ 1,200 เหรียญสหรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ
“กมลธัญ” เผยหาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอาจกดค่าเงินบาทอ่อนตัวลงแตะ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ แตะยังคงต้องจับตาระวังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะอาจกระทบค่าเงินบาทโดยตรง เชื่อว่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเวลานี้ หลังปลาย Q2/58 แนวโน้มราคาทองปรับพุ่งทะลุ 20,000 บาท/บาททองคำ ส่วนราคาทองคำโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 เหรียญสหรัฐ/ทรอยออนซ์  

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า แนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงเรื่อยๆ โดยหากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ที่จะประชุมครั้งต่อไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องลงอีกติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 มีโอกาสอ่อนค่ามากกว่า 34 บาท/เหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ามติของ กนง.จะไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็ตาม แต่คาดว่าค่าเงินบาทจะยังคงปรับตัวลดลงอยู่ เพราะสภาพเศรษฐกิจในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่อย่างเรื่อรัง และยาวนาน พิจารณาได้จากตัวเลขของภาคอุตสาหกรรมการส่งออกที่ไม่ได้เติบโตตามคาด

“ประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะประชุมกันในรอบเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าจยังไม่ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นถึง 20,000 บาท/บาททองคำ ในระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาทองโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,230-1,250 เหรียญสหรัฐ/ทรอยออนซ์ สำหรับราคาทองคำภายในประเทศเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 18,500-19,000 บาท”
 
ขณะที่แนวโน้มภาพรวมของตลาดหุ้นไทย พิจารณาจากค่า P/E ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ขาดแรงดึงดูดในการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ ประกอบกับสภาวะตลาดที่มีความผันผวนอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบ ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มเกิดภาวะเงินฝืด ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนในภายในประเทศของนักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลออกนอกประเทศ ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจภายในประเทศ และภาพรวมค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมีโอกาสแตะ 34 บาท/เหรียญสหรัฐในปีนี้ ซึ่งภาพรวมของตลาดเริ่มมีมุมมองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน แต่ยังคงต้องจับตามองการประชุมของเฟดที่เหลืออีก 5 ครั้งในปีนี้ คือ เดือนมิถุนายน, กรกฎาคม, กันยายน, ตุลาคม และธันวาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น