“บล.บัวหลวง” หั่นเป้าดัชนีสิ้นปีนี้เหลือ 1,505 จุด คาดจีดีพีโตแค่ 2.9% โดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ฉุดผลประกอบการ บจ. ปรับวูบลง “บล.คันทรี่” มองหุ้นไทย ส.ค. ยังผันผวน คาดเป็นผลพวงจากฟองสบู่หุ้นจีน ผสมโรงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว ขณะที่การลงทุนรัฐไม่คืบ “บล.ฟินันเซีย” แนะช่วงนี้ควรเลือกสะสมหุ้นรายตัวที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาโดดเด่น โดยเน้นลงทุนในระยะเวลา 3-6 เดือน ด้วยการทยอยซื้อสะสม หรือลงทุนในหุ้นที่ให้อัตราปันผลสูง เนื่องจากใกล้เวลาปันผลครึ่งปี
นายปรเมศ ทองบัว นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง (BLS) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับลดคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยปีนี้เหลือ 1,505 จุด จากเดิมที่คาดไว้ 1,570 จุด และอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) เหลือ 93.3 บาทต่อหุ้น จาก 97.5 บาทต่อหุ้น รวมถึงการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เหลือ 2.9% จากเดิม 3.3%
ทั้งนี้ ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่หากช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และนักลงทุนมีความมั่นใจ อาจมีโอกาสการปรับเพิ่มประมาณการกำไรอีกครั้ง
สำหรับไตรมาส 2 คาดว่ากำไรของ บจ. จะลดลง 1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว โดยหุ้นที่คาดว่าจะเติบโตสูงสุด คือ หุ้นกลุ่มประกันภัย เพราะการตั้งสำรองน้อยลง รองลงมา กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จากกำไรการขายสินทรัพย์มากขึ้น และกลุ่มปิโตรเคมี เพราะส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีปริมาณขายที่สูงขึ้น
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 3 คาดว่าจะเริ่มเห็นกำไรที่เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งกลุ่มท่องเที่ยวจะกลับมามีทิศทางโดดเด่นชี้นำตลาด เพราะจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว รองลงมา คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง สื่อสาร นิคมอุตสาหกรรม และค้าปลีก
“ดัชนีในช่วงนี้มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น ผลประกอบการไตรมาส 2 และปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดกว่านี้ หรือการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ที่จะเพิ่มความหวัง และความมั่นใจให้แก่นักลงทุน” นายปรเมศ กล่าว
ด้าน นายรณกฤต สารินวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนในเดือน ส.ค.นี้ โดยมองว่า ปัจจัยลบในตลาดยังมีค่อนข้างมาก จึงมองว่าดัชนีหุ้นไทยอาจผันผวน โดยปัจจัยต่างๆ เริ่มจากปัญหาฟองสบู่ตลาดหุ้นจีน ที่ผ่านมาผันผวนหนักมาก ดัชนีราคาหุ่นเซี่ยงไฮ้ลดลงอย่างรวดเร็ว และยังมีการคาดการณ์ว่า มีความเสี่ยงที่อาจปรับตัวลงได้อีกอย่างน้อย 10-20% แม้จีนจะออกมาตรการสกัดการเก็งกําไรหุ้นแล้วก็ตาม
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยถือว่าเป็นตัวกดดันมากที่สุด ซึ่งจะทําให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบตามเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องมีการปรับประมาณการหลายครั้ง รวมถึงการหดตัวของเงินเฟ้อถึงระดับต่ำกว่าศูนย์ ยิ่งเป็นตัวกระทบต่อการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโครงการลงทุนที่ล่าช้าของภาครัฐ ทําให้กิจกรรมสําคัญทางเศรษฐกิจไม่ถูกกระตุ้นอย่างมีนัยสําคัญ และปัญหาภัยแล้ง ทําให้กระทบต่อภาวะหนี้ของประชาชนมีสูงขึ้น
ด้าน นายสมชาย อเนกทวีผล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ว่า ให้เลือกสะสมหุ้นรายตัวที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาโดดเด่น โดยเน้นลงทุนในระยะเวลา 3-6 เดือน ด้วยการทยอยซื้อสะสม หรือลงทุนในหุ้นที่ให้อัตราปันผลสูง เนื่องจากใกล้เวลาปันผลครึ่งปี
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังประเมินว่า มีโอกาสมากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ลงเหลือ 1.25% เพราะเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าคาด สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และการปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองจาก 3.8% เหลือ 3% รวมถึงเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีปัจจัยเชิงจิตวิทยาที่ส่งผลให้ กนง.อาจลดดอกเบี้ย คือ กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. หากเกิดขึ้นจริงอาจทำให้นโยบายด้านเศรษฐกิจ และการคลังสะดุดชั่วคราว ภาระในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะตกมาอยู่กับ กนง. ซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินพยุงเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในระยะสั้น
“เชื่อว่า กนง. มีโอกาสดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสวนทางเฟด ตลาดไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย แต่จะติดตามการแถลงการณ์ของเฟดหลังการประชุมหลังจากก่อนหน้านี้ ยืนยันหนักแน่นว่าจะขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สวนทางมีโอกาสทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออก มองว่าตลาดทุนเริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้ว สะท้อนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ จาก 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาสู่ระดับ 34.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน และการขายหุ้นไทย 5 วันติดต่อกันของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นในระยะกลางยังคงถูกกดดันด้วยแรงขายจากต่างชาติ”
นายวรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวราคาทองราคาทองคำปิดตลาดวันศุกร์ที่ 31 ก.ค.58 ไปที่ 1,088.41 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แรงกดดันมาจากคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มีความชัดเจนขึ้นหลังผลการประชุม FOMC ระบุจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหนึ่งครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอ่อนค่าสู่ 35.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องหนุนราคาทองในประเทศให้ทรงตัวได้ที่ 18,200 บาทต่อบาททองคำ
“เฟดอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกันยายน ข้อมูลดังกล่าวหนุนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้น และทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ราคาทองคำทรงตัวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง หลังจากร่วงลงสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน ประกอบกับการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีนทำให้อุปสงค์ทองคำชะลอตัวลงตาม”
พร้อมประเมินในระยะสั้น หากราคาทองคำขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,096-1,105 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แต่หากไม่สามารถผ่านไปได้ จะอ่อนตัวลงทดสอบแนวต้าน 1,073 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้ ซึ่งการแกว่งตัวของราคาทองคำยังถือเป็นโอกาสให้นักลงทุนระยะสั้นเข้าซื้อเก็งกำไร นักลงทุนยังต้องระมัดระวังแรงขายทางเทคนิค และนักลงทุนควรตั้งจุดตัดขาดทุนหากราคาหลุดบริเวณแนวรับเพื่อลดความเสียหายของพอร์ตการลงทุน