xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ มองหุ้นไทยยังไหลไม่หยุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หุ้นยังลงไม่สุด-กำเงินสดอุ่นใจ
บนกระดานเหลือแต่กลุ่มปันผลสูง

ASTVผู้จัดการรายวัน - ถือเงินสดอุ่นใจ เหตุหุ้นยังผันผวนไม่สิ้นสุด จากความกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยกดดันเม็ดเงินต่างชาติไหลออก ฟันกำไรเด้งที่ 2 จากค่าเงินบาทอ่อนตัวหนัก คาดอาจเห็นนโยบายสวนทางของ กนง.ออกมาพยุงเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยบวกมองข้ามไปถึงผลประกอบการไตรมาส 3 บนกระดานเหลือเพียงกลุ่มปันผลสูงที่ยังน่าลงทุน ส่วนกลุ่มที่เล่นกับกระแสถูกยกให้การประมูล 4G ของกลุ่มสื่อสาร
ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยสร้างวิตกให้นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงเทขายของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเดิมทีต่างเชื่อมั่นว่าได้หมดไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 แต่ปัจจุบันนับตั้งแต่ต้นปีหุ้นไทยถูกเทขายออกไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท บวกกับการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติได้รับกำไรจากจังหวะที่ 2 คือ การแปลงค่าเงินกลับไปเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยสร้างกำไรจำนวนมหาศาลเข้ามาเสริม
ออกมายืนยันแล้ว สำหรับ “ก้องเกียรติ โอภาสวงการ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) ที่ประเมินภาพรวมว่าตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันที่ดัชนีปรับตัวลงมา 6% แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะตลาดหมี หรือ bear market ซึ่งนิยามว่าดัชนีต้องลดลงอย่างน้อย 20% แต่ SET index ยังไม่ลดลงถึงขั้นนั้น โดยสิ่งที่นักลงทุนยังต้องติดตามต่อจากนี้ คือ เรื่องผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนไทยว่าจะเป็นอย่างไร แต่คาดว่าดัชนีฯ น่าอยู่ในลักษณะทรงตัว เพราะมองราคาหุ้นน่าจะตอบรับกับปัจจัยเชิงลบไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น เชื่อว่าหากดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 1,400 จุด และ P/E ที่ 15 เท่า ถือว่าเป็นระดับที่พอรับได้ในการลงทุน
“ปัจจัยที่จะพลิกให้ตลาดหุ้นจะกลับมาเป็นเชิงบวกได้ ต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบ บจ.ว่า จะฟื้นตัวได้เมื่อใด ขณะที่ปัจจัยภายนอกยังไม่น่าห่วง ส่วนหุ้นจีนที่ลดลงยังไม่ถึงขั้นต้องกังวลว่าจะกระทบในภาพรวมของเศรษฐกิจจีน เพราะทางการน่าจะยังใช้มาตรการประคองตลาดหุ้นไม่ให้ร่วงลงไปกว่านี้ โดยรวมตลาดหุ้นไทยขณะนี้ยังคงอยู่ในช่วงของทิศทางขาลง ซึ่งยังคงสร้างแรงกดดันจากต่อภาพรวมตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกมากว่า 70% อีกทั้งปัจจัยการลงทุนหลักๆ ในประเทศยังได้รับผลกระทบมาจากหุ้นพลังงานซึ่งยังอยู่ในแดนลบ และแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้”
เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงนั้นเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ผลกระทบจากตลาดหุ้นในเอเชียที่ปรับตัวลดลงเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะจีน หลังเศรษฐกิจย่ำแย่ บวกกับความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นในเดือน ก.ย. กดดันความน่าสนใจของตลาดหุ้นเกิดใหม่ลดน้อยลง และกดดันกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น

“ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยไม่น่าจะปรับลดลงต่ำกว่า 1,400 จุด เพราะอัตราส่วนราคาปิดกำไรต่อหุ้นตลาดหุ้น (P/E) ของหุ้นไทยอยู่ที่ 14 เท่า สะท้อนดัชนีอยู่ระดับประมาณ 1,390-1,400 จุด คาดว่าดัชนีหุ้นไทยทั้งปีจะอยู่ที่ 1,600 จุด ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไทยยังแข็งแกร่งจากโอกาสการเติบโต และตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 น่าจะอยู่ในระดับที่ทรงตัวได้”
“พรเทพ ชูพันธุ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยยังเต็มไปด้วยข่าวร้ายที่เข้ามารุมเร้า จึงประเมินว่า ดัชนีอาจปรับตัวลดลงได้อีก โดยประเมินแนวรับในระยะถัดไปจะอยู่ที่ 1,400 จุด และ 1,370 จุดตามลำดับ คำแนะนำการลงทุนคือ ให้ชะลอการลงทุนออกไปก่อน หรือเข้าลงทุนกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ปันผลสูง

สอดคล้องต่อ “พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยลงเร็วและแรงมาก เพียงระยะเวลา 1 เดือนกว่า ดัชนีลงมาแล้วกว่า 100 จุด การที่มาอยู่ที่ในระดับ 1,412.55 จุด ถือว่าทำสถิติต่ำสุดในรอบ 1 ปีเศษ สาเหตุที่ดัชนีหุ้นลดลงแรงเกิดจากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งใน และต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้หุ้นไทยลดลงมาเร็วและแรง แต่ก็ยังไม่ใช่โอกาสซื้อ เพราะตลาดยังมีความไม่แน่นอนสูงมากจากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งจากใน และต่างประเทศ แต่สำหรับนักลงทุนที่มีเงินเย็นให้เลือกซื้อหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนเงินปันผลเกิน 5% และหุ้นที่มีโอกาสจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เช่น หุ้นรับเหมาก่อสร้าง เพราะยังไงก็เชื่อว่ารัฐจะต้องลงทุน และหากดูมูลค่างานในมือของบริษัทรับเหมาแล้วยังสามารถรับมือได้กว่า 2 ปี แม้ว่างานประมูลจะออกมาล่าช้า และหุ้นสื่อสารที่มีข่าวดีในเรื่องของการประมูล 4จี และเป็นหุ้นปันผลดีด้วย”
ด้าน “สมชาย อเนกทวีผล” ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำกลยุทธ์การลงทุน ในช่วงนี้ว่า ให้เลือกสะสมหุ้นรายตัวที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาโดดเด่น โดยเน้นลงทุนในระยะเวลา 3-6 เดือน ด้วยการทยอยซื้อสะสม หรือลงทุนในหุ้นที่ให้อัตราปันผลสูง เนื่องจากใกล้เวลาปันผลครึ่งปี

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังประเมินว่ามีโอกาสมากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 1.25% เพราะเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าคาด สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และการปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองจาก 3.8% เหลือ 3% รวมถึงเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีปัจจัยเชิงจิตวิทยาที่ส่งผลให้ กนง.อาจลดดอกเบี้ย คือกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากเกิดขึ้นจริงอาจทำให้นโยบายด้านเศรษฐกิจและการคลังสะดุดชั่วคราว ภาระในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะตกมาอยู่กับ กนง. ซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินพยุงเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในระยะสั้น

“กนง.มีโอกาสดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสวนทางเฟด ตลาดไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย แต่จะติดตามการแถลงการณ์ของเฟดหลังการประชุมหลังจากก่อนหน้านี้ ยืนยันหนักแน่นว่าจะขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สวนทางมีโอกาสทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออก มองว่าตลาดทุนเริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้ว สะท้อนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ จาก 34 บาท/เหรียญสหรัฐ มาสู่ระดับ 34.90 บาท/เหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน และการขายหุ้นไทย 5 วันติดต่อกันของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นในระยะกลางยังคงถูกกดดันด้วยแรงขายจากต่างชาติ”


กำลังโหลดความคิดเห็น