CPF แจงยึดหลักบริหารแรงงานตามมาตรฐานสากล ลั่นนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ และเน้นการจ้างงานตรงตามหลักสิทธิมนุษยชน ยอมรับมีแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 5 พันคน ซึ่งได้รับสิทธิ ค่าจ้าง และสวัสดิการ ที่ดีและเท่าเทียมแรงงานไทย
นายปรีชา ธนสุกาญจน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนโยบายและงานทรัพยากรบุคคลมาตรฐานโลก บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผยว่า CPF กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารแรงงาน ได้แก่ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน นโยบายการจ้างงานและการบริหารแรงงาน นโยบายการจ้างแรงงานต่างชาติ นโยบายการบริหารความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง (Diversity and Inclusion) นโยบายเรื่องการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด ซึ่งนโยบายต่างๆ ดังกล่าวได้ยึดถือตามแนวทางปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและปฏิญญาว่า ด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทจะจ้างแรงงานต่างชาติเป็นลูกจ้างโดยตรงเท่านั้น รวมถึงการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างงานที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทางและประเทศไทยให้กับลูกจ้าง อาทิ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่าเปลี่ยนประเภทวีซ่า ค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าต่อวีซ่า ค่าตรวจร่างกาย (ในประเทศไทย) และค่าเดินทางจากชายแดนถึงสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น ในเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการนั้น แรงงานต่างชาติที่เป็นลูกจ้างโดยตรงของบริษัทจะได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ เท่ากับแรงงานไทยที่อยู่ในระดับงานเดียวกัน อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
ด้านนายสว่าง สุขศรีรอง กรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล CPF กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานต่างชาติของบริษัทเป็นการจ้างตรงเท่านั้น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน
ปัจจุบัน CPF มีแรงงานต่างชาติประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวกัมพูชาจำนวน 4,100 คน และอีก 900 คน เป็นชาวเมียนมา ซึ่งกระจายไปตามโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ แปรรูปสุกร และแปรรูปสัตว์น้ำ ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมเทียบเท่าแรงงานคนไทยทุกประการ อาทิ การรับค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ค่าทักษะฝีมือแรงงาน การปรับค่าจ้างประจำปี บริการรถรับส่งฟรี การประกันอุบัติเหตุ รวมไปถึงสวัสดิการที่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน นอกจากนี้ ยังช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสมัครงานตั้งแต่ต้นทาง
การว่าจ้างแรงงานต่างชาติโดยตรงได้ช่วยให้บริษัทสามารถดูแลและยกระดับฝีมือและคุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติทุกคนได้อย่างเต็มที่เหมือนกับพนักงานคนไทย บริษัทเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเลื่อนระดับงานให้สูงขึ้น และมีการปรับอัตราค่าจ้างเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ในแง่คุณภาพชีวิต บริษัทมีทีมแรงงานสัมพันธ์คอยดูแลแรงงานต่างชาติอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการสำรวจแรงงานต่างชาติมีความพึงพอใจในการร่วมงานกับบริษัท และมีแรงงานต่างชาติอีกจำนวนมากแจ้งความประสงค์ที่จะเข้ามาร่วมงานกับ CPF
“จากนโยบายของซีพีเอฟที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายการจ้างแรงงานต่างชาติเป็นพนักงานของบริษัทโดยตรง ทำให้มั่นใจในเรื่องของการบริหารแรงงานว่า บริษัทจะปราศจากปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานบังคับได้ 100% และตามนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืน บริษัทพร้อมส่งมอบมาตรฐานการจ้างแรงงานต่างชาติไปยังคู่ค้าของบริษัท เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นายปรีชา กล่าว
CPF ยังนำระบบการจัดการมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001) มาประยุกต์ใช้ในโรงงาน และส่งมอบนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนให้กับคู่ค้าทางธุรกิจด้วย นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้สร้างมาตรฐานการยอมรับในเรื่องความแตกต่างให้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งองค์กร โดยไม่คำถึงเรื่องสีผิว เชื้อชาติ หรือ ศาสนา โดยสายงานทรัพยากรบุคคลได้เข้าไปทำกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างแรงงานต่างเชื้อชาติ ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างแรงงานเมียนมา และแรงงานไทย รวมถึงแรงงานชาติอื่นๆ อย่าง ลาว และกัมพูชา เป็นต้น
นอกจากนั้น บริษัทยังเปิดหลักสูตรอบรมภาษา อย่างเช่น ผู้บริหารของโรงงาน จะต้องเข้าอบรมภาษาพม่าเพื่อสามารถสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ในทางกลับกันก็เปิดหลักสูตรสอนภาษาไทยกับกลุ่มแรงงานต่างชาติ เพื่อสร้างการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเสมอภาคต่อกัน อีกทั้งเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติมีตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสวัสดิการของบริษัทอีกด้วย