xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนกางผลสำรวจให้รัฐชะลอขึ้นค่าแรงปี 59 หวั่นกระทบราคาสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.จับมือนิด้าโพล สำรวจแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างปี 2559 เตรียมนำเสนอภาครัฐเพื่อประกอบการพิจารณา ส่วนใหญ่ต้องการให้ชะลอการขึ้นค่าจ้างออกไปหวั่นกระทบราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค และการพิจารณาให้ผ่านคณะกรรมการไตรภาคีรายจังหวัด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการสำรวจความเห็นเพื่อจัดทำโพลเรื่อง “แนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างปี 2559” โดยสอบถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,303 ตัวอย่าง โดยภาพรวมเอกชนต้องการให้รัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำผ่านคณะกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัดแต่จะเริ่มต้นที่ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งทั้งหมดจะสรุปเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประกอบการตัดสินใจเรื่องค่าจ้างต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 21.82% ระบุว่ารัฐบาลไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงในขณะนี้ ควรชะลอไว้ก่อน เพราะถ้าปรับขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค โดยให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรหันมาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพแทน รองลงมา 18.18% ระบุว่า ควรปรับค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ 15.45% ระบุว่า ควรกำหนดตามพื้นที่/เขต/จังหวัด/ภูมิภาค 13.64% ระบุว่า รัฐบาลควรสำรวจความเห็นผู้ประกอบการก่อนปรับค่าแรง และควรคำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวม เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 36.99% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 87 รองลงมา 29.37% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 15.47% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม 9.59% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างลอยตัวตามอุปสงค์และอุปทาน และ 8.58% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด

ด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการปรับอัตราค่าจ้าง พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 51.04% ระบุว่า ไม่ควรปรับอัตราค่าจ้าง โดยควรให้อยู่ในอัตราเท่าเดิม รองลงมา 26.48% ระบุว่า ควรปรับลอยตัว 14.81% ระบุว่า ควรปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น และ 2.07% ระบุว่า ควรปรับลดลง

ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 300 บาทต่อวันที่ผ่านมา เอกชน 61.32% ระบุว่าได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (300 บาททั่วประเทศ) ซึ่งในจำนวนนี้ 33.30% ระบุว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รองลงมา 16.96% ระบุว่า ส่งผลต่อการบริหารค่าจ้าง และส่งผลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในสัดส่วนที่เท่ากัน 12.17% ระบุว่า ต้องกำหนดราคาสินค้าสูงขึ้น 6.48% ระบุว่า ขาดสภาพคล่อง 1.46% ระบุว่า ต้องย้ายฐานการผลิต เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น