xs
xsm
sm
md
lg

เผยเม็ดเงินต่างชาติถือครองพันธบัตรแค่ 16% ไม่มีกำลังพอที่จะกดดันค่าเงินบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักเศรษฐศาสตร์-เอกชน ยอมรับปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ศก.ไทย แต่ยังมีหลายโอกาสให้ปรับตัว โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันลดลง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยช่วง 5-10 ข้างหน้า ไทยต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จึงต้องนำเข้าสูงมาก จึงควรปล่อยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกของตลาด เพราะต้องมีต้นทุนนำเข้าสูงมากในอนาคต แนะจับตาแรงกดดัน กนง. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ส.ค.นี้ เผยเม็ดเงินต่างชาติถือครองพันธบัตรแค่ 16% ไม่มีกำลังพอที่จะกดดันค่าเงินบาท

คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนา “เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างไร” นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวยอมรับว่า ระบบราชการไทยมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนราชการเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ต้องใช้งบประมาณรองรับสวัสดิการ เงินเดือนเพิ่มขึ้น 3 เท่า มีภาระต่องบประมาณร้อยละ 7 ของจีดีพีนับว่าสูงสุดในอาเซียน แต่เมื่อวัดผลประสิทธิภาพในทุกมิติลดต่ำลงมาก

ขณะที่รัฐวิสาหกิจจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขนาดทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1 เท่า รายได้เพิ่มจาก 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 5.1 ล้านล้านบาท เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นแต่จีดีพีของประเทศกลับไม่เพิ่มขึ้น 3 เท่าสะท้อนรายได้ของรัฐวิสาหกิจ แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จึงควรมุ่งเน้นในระยะยาว ด้วยการเดินหน้าแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ การควบคุมดูแลบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

โดยรัฐบาลกำลังพิจารณาเสนอร่างกฎหมายการตั้งบริษัทโฮลดิ้ง มีการแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น การเดินหน้าต่อไปควรแก้ปัญหาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพียงอย่างเดียว

นางกิริฎา เภาวิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศมีรายได้ปานกลางระดับสูง มีรายได้ต่อคนต่อหัว 5,370 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากจะก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วเหมือนกับประเทศที่มีรายได้สูง เช่น สิงคโปร์ รายได้ต่อหัว 54,040 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี สหรัฐฯ 53,670 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เกาหลีใต้ 25,920 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสในหลายด้าน คือ ราคาน้ำมันยังมีราคาลดลง ทำให้ต้นทุนพลังงานและต้นทุนการผลิตลดลง ไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนที่กำลังมีแนวโน้มเติบโต

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีประชาชนระดับรายได้ปานกลางสูง จึงดึงดูดการลงทุนของประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เศรษฐกิจอินเดียกลับเติบโตสูง โดยแนวโน้มในปี 59-60 Real GDP เฉลี่ยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8 เพราะได้ปรับเรื่องการค้าและการลงทุน จึงทำให้อินเดียช่วยดึงเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งแก้ปัญหาผลิตภาพแรงงานของไทยซึ่งขยายตัวในอัตราต่ำมากในภาคเกษตรกรรมและก่อสร้าง จึงต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างคุณภาพแรงงานเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ เพราะระดับคะแนนของเด็กไทยยังสู้หลายประเทศไม่ได้ เพียงแก้ไขกฎระเบียบโรงเรียนโดยไม่ต้องใช้เงิน เพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนในหลายด้าน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประกาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาทั้งหนี้สินภาคครัวเรือน ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรลดลง การลงทุนภาคเอกชนยังน้อยมาก ก่อนปี 40 การลงทุนของภาครัฐและเอกชนรวมกันมีประมาณร้อยละ 40 ของจีดีพี แต่ปัจจุบัน ยอดการลงทุนน้อยมากเพียงร้อยละ 22 ของจีดีพี จึงไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่การลงทุนภาครัฐมีเพียงร้อยละ 4.9 ของจีดีพี ส่วนการเห็นยอดนักท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่องโดยมียอดขยายตัวปัจุบันร้อยละ 25 เป็นเพราะการลงทุนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิหากมีเพียงสนามบินดอนเมืองอาจทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเติบโตไม่ได้

ดังนั้น ทางออกในการแก้ปัญหา คือ เมื่องบประมาณมีจำกัด ควรเลือกใช้เงินเยียวยาเพื่อผลระยะสั้นและได้ผลในระยะยาวด้วย เช่น การอบรมคุณภาพแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพบริการทั้งโลจิสติกส์ บริการท่องเที่ยว บริการเทคโนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จัดการสภาพแวดล้อมต่อการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจชะลอตัวในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบยอดสั่งซื้อลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่บางส่วนต้องเลิกจ้างพนักงานและลดค่าการทำงานล่วงเวลาลงเพื่อลดต้นทุน แต่คงไม่ปลดพนักงานจำนวนมาก เนื่องจากไทยขาดแคลนแรงงาน จึงต้องรักษาแรงงานกลุ่มดังกล่าว รัฐบาลจึงต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และปรับขนาดส่วนราชการให้เล็กลง เปิดให้คนภายนอกรับทำงานในบางส่วนเพื่อเกิดความคล่องตัวในการทำงาน

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3 ส่วนการส่งออกชะลอตัวร้อยละ -2 โดยรวมผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และอาจทบทวนการขยายตัวอีกครั้งหากภัยแล้งมีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงต้องเดินหน้าเจรจาเปิดการค้าเสรีกับอินเดีย ตลาดเปิดใหม่ เช่น ตุรกี และกลับไปเจรจากับยุโรป และมุ่งสร้างไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อย่างจริงจัง

น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิจัย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงช่วงสั้นขณะนี้ เพราะนักลงทุนคาดการณ์ว่า ทางการจะใช้นโยบายการเงินผ่านอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น และยังคาดว่าในการประชุม กนง.วันที่ 5 สิงหาคม 2558 นี้ อาจตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องรอดูความเป็นจริงอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าต่างชาติเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลร้อยละ 16 ของตลาดรวม ขณะที่ไปลงทุนในอินโดนีเซียและมาเลเซียถึงร้อยละ 30-40 จึงมีกำลังน้อยมากในการขายตราสารออก เพื่อกดดันค่าเงินบาทไทยให้อ่อนค่า ขณะที่ในช่วง 5-10 ข้างหน้า ไทยต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จึงต้องนำเข้าสูงมาก จึงควรปล่อยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกของตลาดเพราะต้องมีต้นทุนนำเข้าสูงมากในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น